Loading color scheme

รมช. ศธ. กล่าวต้อนรับในพิธีเปิดการประชุม International Conference on Language and Education ครั้งที่ 7

Language and Education 5 10 2566

          เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2566 นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) ได้เป็นผู้แทนรัฐบาลไทยกล่าวต้อนรับ ในพิธีเปิดการประชุม International Conference on Language and Education ครั้งที่ 7 ณ โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน กรุงเทพฯ โดยมี Ms. Soohyun Kim ผู้อำนวยการ สำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ Ms. Debora Comini ผู้อำนวยการยูนิเซฟประจำภูมิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจากประเทศสมาชิก อาทิ กัมพูชา ฟิจิ นาอูรู เนปาล ปาปัวนิวกินี ฟิลิปปินส์ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจาก 22 ประเทศ จำนวนกว่า 450 คน เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้

Language and Education1 5 10 2566

          การประชุม International Conference on Language and Education ครั้งที่ 7 จัดโดยความร่วมมือระหว่าง Asia-Pacific Multilingual Working Group (MLE WG) สำนักงานยูเนสโก (UNESCO) กรุงเทพฯ มีแนวคิดคือ “Multilingual education for transformative education systems and resilient futures” โดยจะเป็นเวทีสำหรับตัวแทนชนพื้นเมือง เยาวชน ผู้กำหนดนโยบาย ผู้แทนภาครัฐ ผู้ปฏิบัติงาน และนักวิจัย ในการหารือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับปัญหาด้านภาษาในภาคการศึกษา โดยจะมุ่งเน้นที่บทบาทของการจัดการศึกษาโดยใช้ภาษาแม่เป็นฐาน เพื่อยกระดับการเรียนรู้พื้นฐาน ความเท่าเทียม ความเป็นอยู่ที่ดี และความยืดหยุ่นในการเรียนรู้ สำหรับผู้เรียนทุกคน โดยเฉพาะในกลุ่มที่ใช้ภาษาชาติพันธุ์และชนพื้นเมือง

Language and Education2 5 10 2566

          ในโอกาสนี้ รมช. ศธ ได้กล่าวถึงการขับเคลื่อนการศึกษาในประเทศไทยว่า การขับเคลื่อนการศึกษาในประเทศไทย ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เนื่องจากเด็กนักเรียนได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม คลอบคลุมถึงนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลรวมถึงเด็กชาวชนเผ่า นักเรียนที่ไม่มีสัญชาติ และลูกหลานของคนงานอพยพ ทำให้อัตราเด็กตกหล่นและภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ลดลง ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการ ได้ตระหนักถึงปัญหาในการเรียนรู้ภาษาไทยจากเด็กนักเรียนที่ไม่ได้มีภาษาไทยเป็นภาษาแม่ จึงได้พัฒนาสื่อการสอน อาทิ ผลิตสื่อการอ่านเพิ่มเติมสำหรับการพัฒนาทักษะในการใช้ภาษาไทย ในระดับนักเรียนปฐมวัย และนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - 3 ให้แก่เด็กนักเรียนชาวมลายู ได้เรียนรู้ผ่านสื่อการสอนที่มีภาพประกอบที่สวยงาม สามารถสื่อสารถึงความหมายของคำอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยให้ครูสามารถนำมาถ่ายทอด และให้ความรู้ ส่งผลให้นักเรียนมีทักษะการอ่านและเขียนภาษาไทยได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่ส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาแม่เป็นฐาน เพื่อให้การศึกษาเข้าถึงเด็กทุกกลุ่ม โดยเฉพาะในชุมชนพหุวัฒนธรรมและพหุชาติพันธุ์ คือ โครงการ “การศึกษาพหุภาษา มลายู-ไทย” ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากเนื่องจากได้เปิดโอกาสให้นักเรียนต่างถิ่น ได้เรียนรู้การอ่านและเขียนภาษาไทยโดยใช้ภาษามลายูท้องถิ่นก่อน แล้วเปลี่ยนไปใช้ภาษาไทยในการเรียนการสอนด้วยหลักสูตรพิเศษ โดยโครงการนี้ได้รับรางวัล UNESCO King Sejong (เซ จอง) Literacy Prize ปี ค.ศ. 2016 ถือเป็นเครื่องพิสูจน์ความพยายามของประเทศไทยในการส่งเสริมการเรียนรู้แบบทวิ/พหุภาษา โดยใช้ภาษาแม่เป็นฐาน

Language and Education3 5 10 2566

สรุปและเรียบเรียง: พนิดา ทวีลาภ
จิตรลดา จันทร์แหยม
กลุ่มความร่วมมือกับองค์การยูเนสโก
รายงานโดย : กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
4 ตุลาคม 2566