ข่าวความเคลื่อนไหว
ไทยสนับสนุนบทบาทยูเนสโกและพร้อมขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกัน สู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030
ผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ ที่ปรึกษาพิเศษด้านความร่วมมือต่างประเทศ สป. ในฐานะกรรมการในคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ พร้อมด้วยนางสาวสุปราณี คำยวง รองผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การยูเนสโก ที่ปรึกษาสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส และผู้แทนสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป. ได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการบริหารของยูเนสโก ครั้งที่ 217 (217th Session of UNESCO Executive Board) ระหว่างวันที่ 9 - 18 ตุลาคม 2566 ณ สำนักงานใหญ่องค์การยูเนสโก กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส
ในระหว่างการประชุมฯ ระหว่างวันที่ 9-10 ตุลาคม 2566 ผู้แทนประเทศต่าง ๆ ได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงเพื่อแสดงวิสัยทัศน์ของประเทศต่อการดำเนินงานภายใต้กรอบความร่วมมือกับองค์การยูเนสโกที่เชื่อมโยงกับข้อมติของการประชุมคณะกรรมการบริหารของยูเนสโกและการประชุมสมัยสามัญของยูเนสโกที่ผ่านมา รวมทั้งประเด็นที่เกี่ยวข้องกับร่างแผนงานและงบประมาณ ปี พ.ศ. 2567 - 2568 โดยประเทศไทย นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ ได้กล่าวชื่นชมความพยายามของยูเนสโกในการจัดเตรียมร่างแผนงานและงบประมาณทั้งด้านเครื่องมือ องค์ความรู้ และแนวคิดที่ตอบสนองต่อประเด็นท้าทายของโลก ซึ่งประเทศไทยยังคงให้การสนับสนุนบทบาทของยูเนสโกในการผลักดันความร่วมมือแบบข้ามสาขาเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งการกลับมาเป็นสมาชิกยูเนสโกของสหรัฐอเมริกาจะยิ่งทำให้องค์การยูเนสโกมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมของยูเนสโกในการเป็นแหล่งทดลองและเรียนรู้ด้านการศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งไทยได้มีการจัดการเรียนการสอนให้เด็กได้เรียนรู้เกี่ยวกับแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมการตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ และการอนุรักษ์ทางสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม ตลอดจนสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากเครือข่าย ASPnet ของยูเนสโกในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองโลก การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และการเรียนรู้มรดกทางวัฒนธรรมและระหว่างวัฒนธรรม ซึ่งไทยยังคงสนับสนุนข้อริเริ่มของยูเนสโกในการใช้เป้าหมายที่ 4 เป็นเครื่องมือที่เร่งไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี ค.ศ. 2030 การส่งเสริมบทบาทของสำนักงานระดับภูมิภาคของยูเนสโกในการรวมรวมและสังเคราะห์ความก้าวหน้าในการดำเนินงานระดับภูมิภาค
นอกจากนี้ ไทยยังกล่าวชื่นชมสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ ที่มีบทบาทสำคัญในฐานะหน่วยงานประสานระดับภูมิภาค และการบูรณาการทรัพยากรระดับภูมิภาคเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของประเทศสมาชิกให้บรรลุเป้าหมายที่ 4 ซึ่งรวมถึงการเป็นเจ้าภาพของซาอุดิอาระเบียในการจัดประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยพิเศษ ครั้งที่ 45 โดยไทยในฐานะสมาชิกคณะกรรมการชุดดังกล่าวตั้งแต่ปี ค.ศ. 2019 รู้สึกยินดีที่ได้มีแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมในประเทศแอฟริกาเพิ่มมากขึ้น และเน้นย้ำถึงเป้าหมายสูงสุดของยูเนสโกในการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในใจมนุษย์ท่ามกลางความขัดแย้งและความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งประเทศสมาชิกควรผนึกกำลังเพื่อความเป็นหนึ่งเดียวกันกับยูเนสโกในการส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งสันติภาพ
ทั้งนี้ ผู้แทนประเทศอื่น ๆ ได้กล่าวพร้อมสนับสนุนการดำเนินงานตามภารกิจและข้อริเริ่มของยูเนสโกทั้ง 5 สาขา สู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เน้นการดำเนินความร่วมมืออย่างจริงจังและใกล้ชิดกับยูเนสโกที่ครอบคลุมเรื่องการเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติทางธรรมชาติ การอนุรักษ์แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมของโลกและเขตพื้นที่สงวนชีวมณฑล การพลิกโฉมการศึกษาด้วยระบบดิจิทัล การประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) การเรียนรู้ด้วยระบบดิจิทัล การจัดเตรียมแพลตฟอร์มดิจิทัลผ่านระบบออนไลน์ การปกป้องสิทธิมนุษยชน การเสริมสร้างความเข้มแข็งของยูเนสโกด้านสมุทรศาสตร์ การมีส่วนร่วมของเยาวชนและการศึกษาของเยาวชนในอนาคต การจัดการศึกษาทางเทคนิคและอาชีวะ (TVET) การส่งเสริมบทบาทของโรงเรียนภายใต้เครือข่าย ASPnet ในแผนงานด้านการศึกษาของยูเนสโก การส่งเสริมยุทธศาสตร์การดำเนินงานในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นหมู่เกาะขนาดเล็ก (Small Island Developing States: SIDS) การเพิ่มงบประมาณเพื่อสันติภาพศึกษาความเสมอภาคทางเพศและกลุ่มผู้ลี้ภัย การสร้างความเท่าเทียมในสังคม (Inclusive society) การให้ความสำคัญกับระบบพหุภาคีนิยม(Multilateralism) ของยูเนสโกและสหประชาชาติ ความเสมอภาคในการจัดการศึกษาโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง การเพิ่มการลงทุนด้านงบประมาณทางการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต การจัดสรรงบประมาณอย่างสมดุลของสำนักงานใหญ่องค์การยูเนสโกและสำนักงานระดับภูมิภาค การสร้างวิสัยทัศน์ร่วมกันเพื่อสันติภาพในสังคม การเร่งสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือในระบบสหประชาชาติ การให้ความสำคัญกับกลุ่มประเทศแอฟริกา การส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงออกและสื่อ การสร้างความเข้มแข็งของชาติในระยะยาว ตลอดจนการสนับสนุนบทบาทเชิงรุกของยูเนสโกในการดำเนินงานตามแผนงานเร่งด่วนอย่างกรณีของยูเครนและอัฟกานิสถาน
สรุปเรียบเรียง : สริญณพัชร์ ธรรมบุศย์
กลุ่มความร่วมมือกับองค์การยูเนสโก
รายงานโดย : กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
10 ตุลาคม 2566