ข่าวความเคลื่อนไหว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเข้าเยี่ยมชมพระราชวังฟงเตนโบล มรดกโลกของยูเนสโก เพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ และแนวทางการอนุรักษ์
พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และคณะได้เดินทางเข้าเยี่ยมชมพระราชวังฟงเตนโบล (Château de Fontainebleau) เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2566 เพื่อศึกษาประวัติศาสตร์และแนวทางการอนุรักษ์พระราชวัง ซึ่งมีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมของฝรั่งเศส รวมทั้งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของยูเนสโก ในโอกาสที่เดินทางไปเข้าร่วมการประชุมสมัยสามัญขององค์การยูเนสโก ครั้งที่ 42 ที่มีกำหนดจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 7-22 พฤศจิกายน 2566 ณ สำนักงานใหญ่องค์การยูเนสโก กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส
พระราชวังฟงเตนโบล (Château de Fontainebleau) เป็นหนึ่งในพระราชวังที่สำคัญและมีประวัติยาวนานที่สุดในสาธารณรัฐฝรั่งเศส ตั้งอยู่ในเมือง Fontainebleau อยู่ทางตอนใต้ของกรุงปารีส โดยมีลักษณะเป็นปราสาทยุคกลาง เป็นที่พักอาศัยสำหรับพระมหากษัตริย์ฝรั่งเศส และเป็นสถานที่ในการพักผ่อนและล่องเรือของกษัตริย์โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน ปัจจุบันพระราชวังได้กลายเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติตั้งแต่ปี ค.ศ.1927 และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโกในปี ค.ศ.1981 เปิดให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้เข้าเยี่ยมชม โดยมีการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวกับกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของพระราชวัง รวมทั้งมีสวนสาธารณะที่สวยงามภายในพระราชวัง
ในส่วนของการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ของพระราชวังฟงเตนโบล ได้มีการจัดแสดงเครื่องราชบรรณาการจากจีนที่มาจากพระราชวังฤดูร้อนที่กองทหารเข้ายึดได้ในช่วงเดือนตุลาคม ค.ศ.1860 และที่มาจากประเทศไทยคือเครื่องมงคลราชบรรณาการที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงส่งไปถวายพระจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 และพระจักรพรรดินีเออเฌอนีโดยคณะราชทูตสยามซึ่งนำโดยเจ้าพระยาศรีพิพัฒรัตนราชโกษา (แพ บุนนาค) เมื่อปี 2404 (ค.ศ. 1861) ทั้งนี้ ประเทศไทยโดยกรมศิลปากรได้ดำเนินโครงการส่งเสริมความร่วมมือกับพระราชวังฟงเตนโบลเพื่อการอนุรักษ์โบราณวัตถุ
พระราชวังฟงเตนโบลได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโก ในปี ค.ศ. 1981 ปัจจุบันพระราชวังยังคงดูแลรักษารูปแบบสถาปัตยกรรมในยุคกลาง เก็บรักษาประวัติศาสตร์ที่สำคัญของฝรั่งเศส และที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ ซึ่งการดำเนินงานและแนวทางในการบำรุงรักษาสถานที่สำคัญและเผยแพร่ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ให้กับประชาชนทั่วไป สามารถเป็นต้นแบบให้ประเทศไทยในการส่งเสริมการอนุรักษ์สถานที่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกรวมทั้งส่งเสริมให้สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์อื่นๆ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในอนาคต
สรุป/เรียบเรียง : พนิดา ทวีลาภ
สริญณพัชร์ ธรรมบุศย์
กลุ่มความร่วมมือกับองค์การยูเนสโก
รายงานโดย : กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
6 พฤศจิกายน 2566