ข่าวความเคลื่อนไหว
ศธ. ร่วมมือซาอุดีอาระเบียหารือข้อริเริ่มความร่วมมือทางอาชีวศึกษา
เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ให้การต้อนรับ นายอับดุรเราะห์มาน อัลซุฮัยบานี (H.E. Mr. Abdulrahman Alsuhaibani) เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียประจำประเทศไทย ณ ห้องรับรองดำรงราชานุภาพ กระทรวงศึกษาธิการ
รมว.ศธ. กล่าวขอบคุณรัฐบาลราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันความร่วมมือกับประเทศไทยในทุกมิติ ครอบคลุมถึงความร่วมมือด้านการศึกษากับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และหน่วยงานทางการศึกษาในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการจัดสรรทุนการศึกษา การแลกเปลี่ยนทางวิชาการ การสนับสนุนการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ซึ่งถือเป็นการขยายโอกาสทางการศึกษา พัฒนานักเรียน และนักศึกษาไทยให้มีคุณภาพมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ศธ. ยินดีให้การสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อสานต่อความร่วมมือต่าง ๆ ทางการศึกษาต่อไป
“ในนามของ ศธ. ขอขอบคุณที่สนับสนุนทุนการศึกษาประจำปีการศึกษา ค.ศ. 2023 – 2024 แก่ประเทศไทย ภายใต้ชื่อ Study in Saudi Arabia ซึ่ง ศธ. ได้มีการประชาสัมพันธ์ทุนการศึกษาดังกล่าวแก่นักเรียนในสังกัดแล้ว ทั้งนี้ รมว.ศธ. มีความประสงค์อยากให้รัฐบาลซาอุดีอาระเบียสนับสนุนทุนการศึกษาในด้านอาชีวศึกษาให้กับนักเรียนชาวไทย ซึ่งการเรียนการสอนระดับอาชีวศึกษาในประเทศไทยเน้นทักษะวิชาชีพแก่ผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนมีทักษะที่ตอบโจทย์ตลาดแรงงานทั้งไทยและต่างประเทศ ดังนั้น หากมีการพิจารณาเพื่อสนับสนุนการศึกษาแบบทวิภาคีและทวิวุฒิร่วมกับซาอุดีอาระเบีย ก็จะช่วยให้นักเรียนไทยมีทักษะทางวิชาชีพควบคู่ไปกับความรู้ด้านภาษาและความเข้าใจด้านวัฒนธรรมของซาอุดีอาระเบีย สามารถตอบโจทย์ตลาดแรงงานของไทย-ซาอุดีอาระเบีย ไปพร้อม ๆ กัน”
นายอับดุรเราะห์มาน อัลซุฮัยบานี กล่าวว่า ในนามของซาอุดีอาระเบีย ขอขอบคุณที่ รมว.ศธ. ได้มาร่วมงานเฉลิมฉลองวันชาติของซาอุดีอาระเบียในโอกาสครบรอบ 93 ปี ที่ผ่านมา ซึ่งซาอุดีอาระเบียมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะริเริ่มความร่วมมือด้านอาชีวศึกษากับประเทศไทย และเชื้อเชิญให้ประเทศไทยร่วมเป็นประเทศภาคีในการสนับสนุนการเรียนการสอนด้านอาชีวศึกษาแก่ซาอุดีอาระเบีย เนื่องจากประเทศไทยมีชื่อเสียงด้านอาชีวศึกษา รวมถึงการพัฒนาทักษะวิชาชีพในหลากหลายสาขาวิชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาขาเกษตรกรรม โดยอาจมีรูปแบบความร่วมมือในลักษณะต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนระดับผู้บริหาร การแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญ ครู และนักเรียน การศึกษาดูงานระหว่างกัน การพัฒนาหลักสูตรร่วมกัน การจัดทำบันทึกความเข้าใจ และการจัดสรรทุนการศึกษา ทั้งนี้ มีความยินดีที่จะสนับสนุนการศึกษาระหว่างไทย-ซาอุดีอาระเบีย ในระดับอาชีวศึกษา และจะประสานหน่วยงานต่าง ๆ ของซาอุดีอาระเบียเพื่อหารือในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
สรุป/เรียบเรียง : นัศรูน เปาะมะ
ภัสศรี ศิริประภา
กลุ่มความร่วมมือทวิภาคี
รายงานโดย : กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
23 พฤศจิกายน 2566