ข่าวความเคลื่อนไหว
ไทยและอิตาลีพร้อมประสานความร่วมมือด้านการศึกษา
พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้การต้อนรับนายเปาโล ดีโอนีซี (Mr. Paolo Dionisi) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิตาลีประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 เวลา 09.30 น. ณ ห้องรับรองดำรงราชานุภาพ กระทรวงศึกษาธิการ เนื่องในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและหารือความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างไทยและอิตาลี โดยมีนายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมการเยี่ยมคารวะด้วย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวต้อนรับนายเปาโล ดีโอนีซี และกล่าวถึงนโยบายด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ได้แก่ “เรียนดี มีความสุข” (Happy Learning) เน้นเด็กนักเรียนเป็นศูนย์กลาง โดยเชื่อว่าหากนักเรียนมีความสุข ผลการเรียนก็จะดี ทั้งนี้ ได้แบ่งกลุ่มเป้าหมายผู้เรียนเป็น 2 กลุ่มคือ เรียนเพื่อความเป็นเลิศ และเรียนเพื่อความมั่นคงของชีวิต โดยมุ่งผลสัมฤทธิ์ให้นักเรียนเป็นคนดีและคนเก่ง การส่งเสริมแพล็ตฟอร์มให้ผู้เรียนเข้าถึงได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) เพื่อลดภาระครู นักเรียน และผู้ปกครอง เอื้อแก่นักเรียนที่ด้อยโอกาสให้สามารถเข้าถึงการศึกษาในช่องทางอื่นๆ ได้ เป็นการลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา อีกทั้งยังช่วยสนับสนุนให้นักเรียนสามารถหารายได้ระหว่างเรียนด้วย (Learn to Earn) นอกจากนี้ ยังส่งเสริมเรื่องการเพิ่มวิทยฐานะของครู การลดภาระของครู การจัดหาอุปกรณ์เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ
นายเปาโล ดีโอนีซี ชื่นชมนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่มุ่งให้เกิดความเท่าเทียม และการปลูกฝังให้เด็กมีความรักชาติและสถาบัน และยังรักษาแนวปฏิบัติที่ดีงาม เช่น การแต่งเครื่องแบบนักเรียนซึ่งแสดงถึงความเท่าเทียม และความเคารพต่อครูอาจารย์ อีกทั้งยังสนับสนุนนโยบายให้นักเรียนสามารถเรียนและมีงานทำไปด้วย โดยเฉพาะการเรียนด้านอาชีวศึกษา โดยเห็นว่าอาชีวศึกษามีความสำคัญมาก ปัจจุบันการประกอบอาชีพทุกอาชีพมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นอาชีพด้านการช่างหรือเกษตรกรรมก็ถือว่ามีบทบาทสำคัญในสังคม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวถึงหลักการบริหารโดยยึดหลักประชาธิปไตย ซึ่งผู้บริหารสถานศึกษาและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสม ซึ่งตั้งอยู่บนระเบียบหลักเกณฑ์ ไม่ใช้เสรีภาพจนเกินขอบเขตทั้งนี้ หากทางฝ่ายอิตาลีให้การสนับสนุนด้านการศึกษา ก็จะเป็นการส่งเสริมความร่วมมืออันดีของทั้งสองประเทศ ซึ่งเอกอัครราชทูตฯ ยินดีให้การสนับสนุนด้านอาชีวศึกษาในสาขาที่ทางกระทรวงศึกษาธิการต้องการหรือเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาผู้เรียนและการจัดการด้านการศึกษาต่อไป
สรุป/เรียบเรียง : รัชนินท์ พงศ์อุดม
ภัสศรี ศิริประภา
กลุ่มความร่วมมือทวิภาคี
รายงานโดย : กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
23 พฤศจิกายน 2566