ข่าวความเคลื่อนไหว
ความร่วมมือด้านการศึกษากับคณะผู้บริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด
เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 เวลา 10.00 น. คณะผู้บริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ได้เข้าพบกับ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ณ ห้องวชิราวุธ อาคารราชวัลลภ เนื่องในโอกาสที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเข้ารับตำแหน่ง และหารือความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างบริษัทฯ และกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อสนับสนุนและผลักดันการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อประโยชน์ในด้านการศึกษา ควบคู่กับการพัฒนาองค์ความรู้ให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ และยกระดับขีดความสามารถและคุณภาพการศึกษาเพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวต้อนรับและขอบคุณคณะผู้บริหารของบริษัทฯ พร้อมทั้งกล่าวชื่นชมบริษัทฯ ในฐานะหนึ่งในองค์กรชั้นนำด้านเทคโนโลยีการสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศของประเทศจีนที่มีการเติบโตที่รวดเร็วและมีพัฒนาการที่ก้าวหน้าเป็นอย่างมาก อีกทั้งเป็นหนึ่งในองค์กรผู้นำเทคโนโลยีการสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศเข้าไปยังชนบทและพื้นที่ห่างไกลในประเทศจีนเพื่อสนับสนุนการศึกษาทางไกลให้กับเด็กและเยาวชนชาวจีนที่ไม่สามารถเดินทางไปเรียนในสถานศึกษาในช่วงที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งทั้งไทยและจีนต่างก็มีชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล และเข้าไม่ถึงสาธารณูปโภคพื้นฐานและเครือข่ายสัญญาณอินเทอร์เน็ต
นายเอดิสัน สวี (Mr. Edison Xu) กรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงวิสัยทัศน์ของบริษัทฯ ในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางด้านดิจิทัล (Digital Hub) ในภูมิภาคอาเซียน และการสร้างและพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีการสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อรองรับความต้องการที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยได้มีการดำเนินความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานอื่น ๆ ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการโทรคมนาคมและเทคโนโลยีการสื่อสาร การให้ความรู้ด้านดิจิทัล และการพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีการสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ ในการนี้ ทางบริษัทฯ ยินดีถ่ายทอดและแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีให้กระทรวงศึกษาธิการเพื่อนำมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของประเทศไทยได้
ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้เน้นย้ำถึงหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการ คือ การจัดการศึกษาอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง โดยกระทรวงฯ มีนโยบายหลักคือ เรียนดี มีความสุข พร้อมทั้งส่งเสริมการเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา ผ่านช่องทางการเรียนรู้และแพลตฟอร์มที่มีคุณภาพ ทั้งนี้ หากทางบริษัทฯ มีแนวคิดที่จะช่วยพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อประโยชน์ต่อการศึกษา โดยเฉพาะการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงฯ ก็ยินดีที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้และมีความร่วมมือระหว่างกันต่อไป
สรุป/เรียบเรียง : พัทธดนย์ หลงปาน
ภัสศรี ศิริประภา
กลุ่มความร่วมมือทวิภาคี
รายงานโดย : กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
14 ธันวาคม 2566