Loading color scheme

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ประเทศญี่ปุ่น เข้าพบหารือข้อราชการกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

รมว.ศึกษาฯ ญี่ปุ่น เยี่ยมคารวะ 2 5 2567

          เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 เวลา 15.30 น. นายโมริยามะ มาซาฮิโตะ (H.E. Mr. MORIYAMA Masahito) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (MEXT) ประเทศญี่ปุ่น และคณะ ได้เข้าพบหารือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นางพิมพ์วรัชญ์ เมืองนิล ผู้อำนวยการสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป. และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการพบหารือฯ

รมว.ศึกษาฯ ญี่ปุ่น เยี่ยมคารวะ1 2 5 2567

          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวต้อนรับและขอบคุณรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการฯ ประเทศญี่ปุ่น ที่ให้เกียรติมาพบในวันนี้ โดยกล่าวถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยและญี่ปุ่นที่ยาวนานกว่า 100 ปี ระบบการศึกษาและวัฒนธรรมในความเป็นภูมิภาคเอเชียที่คล้ายกัน นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการยังได้กล่าวชื่นชมความมีระเบียบวินัยของเด็กนักเรียนชาวญี่ปุ่น และการจัดการศึกษาที่ดีมากโดยรัฐบาลญี่ปุ่น ในโอกาสที่ได้ไปเยือนประเทศญี่ปุ่นเป็นการส่วนตัว ซึ่งได้เยี่ยมชมศูนย์วัฒนธรรมแห่งเอเชียและแปซิฟิกเพื่อยูเนสโก (Asia-Pacific Cultural Centre for UNESCO: ACCU) กับโรงเรียนมัธยมยามาซากิ (Yamazaki High School) ที่กรุงโตเกียว ในส่วนนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ มุ่งเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง มุ่งหวังให้นักเรียน “เรียนดี มีความสุข” (Happy Learning) โดยลดภาระนักเรียน ครู และผู้ปกครอง ส่งเสริมให้เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) ผ่านแพลตฟอร์มที่ทุกคนสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้สะดวก

รมว.ศึกษาฯ ญี่ปุ่น เยี่ยมคารวะ2 2 5 2567

          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (MEXT) ประเทศญี่ปุ่น ได้กล่าวขอบคุณรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่ให้เกียรติได้เข้าพบในวันนี้ พร้อมทั้งกล่าวขอบคุณรัฐบาลไทยที่ให้การสนับสนุนและให้ความร่วมมือกับรัฐบาลญี่ปุ่นในเรื่องต่าง ๆ อาทิ การให้ความร่วมมือในการจัดตั้งโรงเรียนสมาคมไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ที่ช่วยให้เด็กนักเรียนชาวญี่ปุ่นที่อยู่ในประเทศไทยได้มีโอกาสเรียนรู้วัฒนธรรมของไทยและวัฒนธรรมที่หลากหลาย และช่วยให้ชาวญี่ปุ่นสามารถทำงานในไทยกับครอบครัวได้ อีกทั้งกระทรวงศึกษาธิการไทยยังให้ความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นจำนวนมาก ในปีที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการยกระดับความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ที่นายกรัฐมนตรีของไทยได้เสนอในการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2566 โดยกล่าวว่า การเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนแบบ Heart-to-Heart Partnership ผ่านการแลกเปลี่ยนในระดับประชาชน จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษาและเป็นรากฐานที่สำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการฯ ประเทศญี่ปุ่น ได้กล่าวถึงการมอบรางวัล SEAMEO-Japan Education for Sustainable Development (ESD) Award ซึ่งสำนักงานเลขาธิการองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO: ซีมีโอ) และ MEXT ได้ร่วมกันดำเนินการตั้งแต่ปี 2555 เพื่อเสริมสร้างความตระหนักแก่สาธารณชนและการหาความรู้ ทักษะ แนวคิด และประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันและอนาคต กระตุ้นให้โรงเรียนและชุมชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศญี่ปุ่นตระหนักถึงการใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ในการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สร้างอนาคตที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยในปี 2566 ได้จัดมอบรางวัลในหัวข้อ "Promoting Environmental Education through Utilizing Renewable Energy" และได้มอบรางวัลที่ 3 ประเภทโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนมากกว่า 250 คน ให้แก่โรงเรียนรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์

รมว.ศึกษาฯ ญี่ปุ่น เยี่ยมคารวะ3 2 5 2567

รมว.ศึกษาฯ ญี่ปุ่น เยี่ยมคารวะ7 2 5 2567

          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการฯ ประเทศญี่ปุ่น ยังได้กล่าวถึง การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางการศึกษาระหว่างโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย กับ Super Science High School และสถาบัน KOSEN ในญี่ปุ่น ที่ได้มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และฝ่ายญี่ปุ่นยินดีที่จะส่งเสริมให้มีความร่วมมือในด้านนี้มากยิ่งขึ้น ในช่วงท้ายการสนทนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการฯ ประเทศญี่ปุ่น ได้แสดงความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับนักเรียนญี่ปุ่นในปัจจุบัน ซึ่งมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนและการเรียนรู้จากสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่นอกห้องเรียนน้อยลง เนื่องจากเนื้อหาและสื่อการเรียนรู้ต่าง ๆ บรรจุอยู่ในคอมพิวเตอร์และแท็บเล็ตมากขึ้น ดังนั้น การแลกเปลี่ยนระหว่างนักเรียนระหว่างไทยและญี่ปุ่น จะเป็นกิจกรรมสำคัญที่พัฒนาพฤติกรรมและการเรียนรู้ผ่านการปฏิสัมพันธ์กับผู้คนและสิ่งที่จับต้องได้ในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ นอกห้องเรียนตามความเหมาะสมของวัย

รมว.ศึกษาฯ ญี่ปุ่น เยี่ยมคารวะ4 2 5 2567

          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวขอบคุณที่ฝ่ายญี่ปุ่นให้การสนับสนุนโครงการ กิจกรรม และความร่วมมือต่าง ๆ ที่ผ่านมา พร้อมทั้งเน้นย้ำความสำคัญของการแลกเปลี่ยนทางการศึกษาในทุกระดับ และเชื่อมั่นว่า โครงการ กิจกรรม และความร่วมมือเหล่านี้จะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทยและญี่ปุ่นในทางที่ดียิ่งขึ้นต่อไป ในโอกาสนี้ ได้เรียนเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการฯ ประเทศญี่ปุ่น ให้เกียรติเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 7 การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกด้านการศึกษา ครั้งที่ 7 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 – 26 สิงหาคม 2567 ที่จังหวัดบุรีรัมย์

รมว.ศึกษาฯ ญี่ปุ่น เยี่ยมคารวะ5 2 5 2567

รมว.ศึกษาฯ ญี่ปุ่น เยี่ยมคารวะ6 2 5 2567

สรุปและเรียบเรียง : พัทธดนย์ หลงปาน
ภัสศรี ศิริประภา
กลุ่มความร่วมมือทวิภาคี
รายงานโดย : กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
2 พฤษภาคม 2567