Loading color scheme

ประเทศไทยร่วมแสดงวิสัยทัศน์เชิงนโยบายเพื่อส่งเสริมการศึกษาเพื่อสันติภาพ สิทธิมนุษยชน และการพัฒนาที่ยั่งยืน

N การศึกษาเพื่อสันติภาพ 5 6 2567

          เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2567 เวลา 09.00 น. พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีเปิดการเสวนาเชิงนโยบายระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและการเปิดตัว “ข้อเสนอแนะว่าด้วยการศึกษาเพื่อสันติภาพ สิทธิมนุษยชน และการพัฒนาที่ยั่งยืน 2023” (Regional Policy Dialogue and Launch of the ‘2023 Recommendation on Education for Peace, Human Rights and Sustainable Development’ in Asia-Pacific) การเสวนาดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-7 พฤษภาคม 2567 ณ โรงแรมสกายวิว กรุงเทพมหานคร จัดโดยสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ศูนย์การศึกษาเพื่อความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศแห่งเอชียแปซิฟิก (APCEIU) ศูนย์ความเป็นเลิศแห่งเอชียแปซิฟิก และศูนย์โลกศึกษาของนิวซีแลนด์ มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันอภิปรายและหาแนวทางส่งเสริมการดำเนินการตามข้อเสนอแนะว่าด้วยการศึกษาเพื่อสันติภาพฯ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

การศึกษาเพื่อสันติภาพ1 5 6 2567

          ผู้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ ประกอบด้วย ผู้แทนจากกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ ผู้แทนจากภาคประชาสังคม องค์การระหว่างประเทศ และองค์กรพัฒนาเอกชน รวมทั้งสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยยูเนสโก เยาวชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ จากประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จำนวนประมาณ 100 คน

การศึกษาเพื่อสันติภาพ2 5 6 2567

          ในโอกาสนี้ รมว.ศธ. ได้กล่าวถึง ความสำคัญของการศึกษาซึ่งเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังในการสร้างสันติภาพ ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน และสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมทั้งได้กล่าวถึงนโยบายเรียนดี มีความสุข ที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างเครือข่ายความร่วมมือ สร้างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ส่งเสริมการเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเสริมสร้างสันติภาพ การเคารพสิทธิ และส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน ในโอกาสเดียวกัน นางคิม ซูฮยอน (Kim SooHyun) ผู้อำนวยการสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ และ ดร. ลิม ฮยอนมุค (Lim Hyun Mook) ผู้อำนวยการศูนย์ APCEIU ได้ร่วมกล่าวในพิธีเปิดการประชุมเกี่ยวกับเป้าหมายที่สำคัญของการประชุมคือ การนำไปสู่การจัดทำแผนที่นำทาง (Roadmap) เพื่อการนำข้อเสนอแนะไปปฏิบัติให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม มุ่งให้เกิดการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาที่มีความหมายในสังคม

การศึกษาเพื่อสันติภาพ3 5 6 2567

          อนึ่ง ข้อเสนอแนะว่าด้วยการศึกษาเพื่อสันติภาพ สิทธิมนุษยชน และการพัฒนาที่ยั่งยืน 2023 เป็นการปรับปรุงจากข้อเสนอแนะฯ ปี 1974 ซึ่งได้รับการรับรองจากประเทศสมาชิก 194 ประเทศ ในการประชุมสมัยสามัญขององค์การยูเนสโก ครั้งที่ 42 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 ให้มีเนื้อหาสอดคล้องกับปัจจุบันที่เน้นเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างการศึกษาที่มีคุณภาพและทั่วถึงสำหรับทุกคน การพัฒนาความเข้าใจในด้านสันติภาพ การเคารพสิทธิมนุษยชน และการสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) นอกจากนี้ ข้อเสนอแนะดังกล่าวยังมุ่งการพัฒนาเนื้อหาการเรียนการสอนและหลักสูตรที่ครอบคลุม การฝึกอบรมครู และผู้สอน การสร้างความตระหนักในระดับชุมชนและสังคม รวมทั้งการประสานงานระหว่างรัฐบาล หน่วยงาน การศึกษา และองค์กรที่เกี่ยวข้อง

การศึกษาเพื่อสันติภาพ4 5 6 2567

สรุป/เรียบเรียง: พนิดา ทวีลาภ
สริญณพัชร์ ธรรมบุศย์
จิตรลดา จันทร์แหยม
รายงานโดย : กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศต่างประเทศ

สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
5 มิถุนายน 2567