Loading color scheme

ศธ.​หารือความร่วมมือด้านการศึกษา​กับญี่ปุ่น

NN jp1 18 7 2567

          เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2567 เวลา 14.00 น. พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้การต้อนรับนายนาคากาวะ มาซาฮารุ (Mr. NAKAGAWA Masaharu) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรญี่ปุ่น และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (MEXT) ประเทศญี่ปุ่น พร้อมด้วยนายโอทากะ มาซาโตะ (Mr .OTAKA Masato) เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้อำนาจเต็มแห่งญี่ปุ่น ในโอกาสที่เดินทางมาเข้าเยี่ยมคารวะและหารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างไทยและญี่ปุ่น ณ ห้องดำรงราชานุภาพ อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ และได้มอบหมายให้นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ผู้แทนปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมหารือพร้อมผู้อำนวยการสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

jp 20 7 2567

jp2 20 7 2567

          นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวต้อนรับนายนาคากาวะ มาซาฮารุ โดยกล่าวชื่นชมถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยและญี่ปุ่น ซึ่งครบรอบ 136 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน และมีความร่วมมือด้านการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาและผลสำเร็จทางการศึกษาที่ญี่ปุ่นได้ดำเนินการและเป็นตัวอย่างที่ดีให้ประเทศไทยได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ พร้อมทั้งกล่าวถึงนโยบายด้านการศึกษาของกระทรวงฯ ซึ่งเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง มุ่งหวังให้นักเรียน “เรียนดี มีความสุข” (Happy Learning) โดยการลดภาระครู นักเรียนและผู้ปกครอง ส่งเสริมให้เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) ในโอกาสนี้ นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวขอบคุณฝ่ายญี่ปุ่นที่ได้ให้การสนับสนุนทุนการศึกษา ทุนฝึกอบรม และโครงการต่าง ๆ แก่นักเรียนและครูของไทยได้มีโอกาสเรียนรู้จากความสำเร็จของญี่ปุ่น

jp1 20 7 2567

           นายนาคากาวะ มาซาฮารุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเทศญี่ปุ่น และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการฯ ญี่ปุ่น กล่าวขอบคุณกระทรวงศึกษาธิการที่ให้การต้อนรับ และกล่าวชื่นชมในความสำเร็จของการจัดตั้งสถาบันโคเซ็น (KOSEN) ในประเทศไทย ซึ่งเป็นภารกิจในสมัยที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการฯ ญี่ปุ่น (MEXT) โดยการจัดตั้งสถาบันโคเซ็นในประเทศไทยได้ส่งเสริมให้นักเรียนไทยได้เรียนรู้วิทยาการและศาสตร์ด้านเทคโนโลยีจากญี่ปุ่นซึ่งมีความชำนาญมาอย่างยาวนาน อีกทั้งยังกล่าวชื่นชมความสำเร็จของโครงการผู้ช่วยสอนภาษาญี่ปุ่น (NIHONGO Partners) ซึ่งทำให้นักเรียนไทยได้มีโอกาสเรียนรู้ภาษาญี่ปุ่นจากเจ้าของภาษา และเปิดโอกาสให้คนญี่ปุ่นได้เรียนรู้กระบวนการเรียนการสอนและวัฒนธรรมของไทย ส่งผลให้อาสาสมัครที่ปฏิบัติหน้าที่เสร็จสิ้นแล้วเกิดความสนใจในภาษาและวัฒนธรรมไทยมากขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นยินดีต้อนรับผู้ที่ไปศึกษาต่อในประเทศญี่ปุ่น โดยเมื่อไม่นานมานี้ได้มีการบัญญัติกฎหมายใหม่เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักเรียนนักศึกษาที่ไปศึกษาที่ญี่ปุ่น รวมถึงการกำหนดมาตรฐานและใบอนุญาตของครูสอนภาษาญี่ปุ่น เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพของครูสอนภาษาญี่ปุ่นทั้งในประเทศญี่ปุ่นและนอกประเทศ และยินดีต้อนรับคณะครู ผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษา ที่สนใจจะเรียนรู้ระบบการศึกษาของญี่ปุ่นที่โรงเรียนสมาคมไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ใช้หลักสูตรและระบบการสอนแบบญี่ปุ่นในโอกาสต่อไป

สรุป  เรียบเรียง : พัทธดนย์ หลงปาน
ภัสศรี ศิริประภา
กลุ่มความร่วมมือทวิภาคี
รายงานโดย: กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
18 กรกฎาคม 2567