ข่าวความเคลื่อนไหว
ปลัดกระทรวงศึกษาธิการผลักดันความร่วมมือการศึกษาในกรอบสุดยอดเอเชียตะวันออกเพื่อพลิกโฉมการศึกษาในยุคดิจิทัล
เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2567 ณ ห้องประชุมบอลรูม สนามช้างอารีนา ประเทศไทยได้จัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษาในกรอบสุดยอดเอเชียตะวันออก โดยมีปลัดกระทรวงศึกษาธิการจากประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา อินโดนีเซีย สปป.ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย เข้าร่วมการประชุม นอกจากนี้ ยังมีผู้แทนจากติมอร์-เลสเต ในฐานะผู้สังเกตการณ์ รวมถึงประเทศคู่เจรจาในกรอบสุดยอดเอเชียตะวันออก ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ สาธารณรัฐเกาหลี รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา รวมถึงผู้แทนจากหน่วยงานเครือข่ายด้านการศึกษาของอาเซียน รวมประมาณกว่า 130 คน
ปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้เน้นย้ำความสำคัญของการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษากรอบสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 9 (9th EAS SOM-ED) ว่าเป็นเวทีสำคัญสำหรับการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านการศึกษาของประเทศสมาชิกในกรอบสุดยอดเอเชียตะวันออก (EAS) และ
ในการติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการและกิจกรรมที่สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการมะนิลาฯ และแผนงานด้านการศึกษาของอาเซียน ปี 2564 – 2568 ทั้งนี้ การบูรณาการความร่วมมือผ่านโครงการและกิจกรรมดังกล่าวจะช่วยให้ประเทศสมาชิกมีความใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น รวมถึงการพลิกโฉมการศึกษาเข้าสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยีส่งผลให้ต้องปรับตัวและพัฒนาวิธีการเรียนการสอนเพื่อให้เยาวชนทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และสร้างความตระหนักรู้ให้แก่เยาวชน เพื่อให้สามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และแนวคิดต่าง ๆ จะช่วยเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและ EAS เพื่อพัฒนาการศึกษาให้ก้าวสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ
อนึ่ง สำนักเลขาธิการอาเซียนได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าของการดำเนินงานภายใต้แผนการดำเนินงานอาเซียนด้านการศึกษา ปี ค.ศ. 2021-2025 นอกจากนี้ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี นิวซีแลนด์ รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา ยังได้รายงานความคืบหน้าในการดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับองค์ประกอบด้านการศึกษาภายใต้แผนปฏิบัติการมะนิลาว่าด้วยข้อริเริ่มในการพัฒนาประเทศคู่เจรจาในกรอบสุดยอดเอเชียตะวันออก สำหรับปี ค.ศ. 2018-2022
ในท้ายสุดของการประชุมฯ ประธานฯ ได้กล่าวขอบคุณผู้เข้าร่วมประชุมที่ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นและเสนอแนวทางเพื่อขับเคลื่อนการพลิกโฉมการศึกษาในยุคดิจิทัล โดยเน้นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในการจัดการเรียนการสอน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่พลเมืองทั้งในภูมิภาคอาเซียนและนอกภูมิภาค
สรุปและเรียบเรียง : คณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์การประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
รายงานโดย : กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
24 สิงหาคม 2567