ข่าวความเคลื่อนไหว
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 และกล่าวแสดงความยินดีแก่ผู้ชนะ การแข่งขันควบคุมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติด้วยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 ระดับชาติ ครั้งที่ 3 ประจำปีการศึกษา 2567 ในงาน didacta asia and didacta asia congress 20
เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2567 นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ให้แก่ทีมผู้ชนะการแข่งขันควบคุมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติด้วยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 ระดับชาติ ครั้งที่ 3 ประจำปีการศึกษา 2567 และมอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้แก่สถานศึกษาและหน่วยงานที่สนับสนุนการแข่งขันดังกล่าว ในงานนิทรรศการสื่อการศึกษาและการประชุมนานาชาติ didacta asia and didacta asia congress 2024 ณ ฮอลล์ 101 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนา กรุงเทพมหานคร
นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวแสดงความยินดีแก่ทีมผู้ชนะการแข่งขันควบคุมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติด้วยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 ระดับชาติฯ โดยได้เน้นย้ำความสำคัญของเวทีการแข่งขันที่ส่งเสริมความรู้และทักษะด้านเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย และมีความภูมิใจที่เยาวชนได้แสดงศักยภาพของตนเอง มีความสามารถสูง มีความเป็นผู้นำด้านวิทยาการเทคโนโลยี และจะเป็นกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม 4.0 ของประเทศชาติต่อไป
รางวัลการแข่งขันประกอบด้วย ถ้วยรางวัลชนะเลิศ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ถ้วยรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ถ้วยรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และถ้วยรางวัลชมเชย อธิการบดี 7 สถาบัน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา โดยมีทีมการแข่งขันจากอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาเข้าร่วมการแข่งขัน 7 ประเภท ได้แก่ 1) การแข่งขันการควบคุมหุ่นยนต์เชื่อมอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยี CMT จำนวน 40 ทีม 2) การแข่งขันการเขียนโปรแกรมควบคุมระบบการผลิตอัตโนมัติด้วยแกนไฟฟ้าทั้งระบบ จำนวน 38 ทีม 3) การแข่งขันการเขียนโปรแกรมพีแอลซีควบคุมชุดทดสอบแกนไฟฟ้า จำนวน 43 ทีม 4) การแข่งขันการออกแบบและผลิตชิ้นงานด้วยโปรแกรม CAD/CAM (3D) จำนวน 46 ทีม 5) การแข่งขันตรวจสอบชิ้นงานอุตสาหกรรมด้วยเครื่อง 3D Laser Scanner จำนวน 29 ทีม 6) การแข่งขันการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมเสมืองจริง (ด้วยซอฟต์แวร์ Emulate3D) จำนวน 39 ทีม และ 7) การแข่งขันการสร้างคลังสินค้าอัตโนมัติและโลจิสติกส์ (ด้วยซอฟต์แวร์ Emulate3D) จำนวน 40 ทีม
อนึ่ง สถานศึกษาและหน่วยงานที่สนับสนุนการแข่งขันฯ ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคระยอง วิทยาลัยเทคนิคนิคมอุตสาหกรรมระยอง วิทยาลัยสารพัดช่างพระนคร วิทยาลัยสารพัดช่างนครหลวง วิทยาลัยสารพัดช่างสมุทรสงคราม วิทยาลัยเทคนิคสุพรรณบุรี วิทยาลัยเทคนิคอ่างทอง วิทยาลัยเทคนิคบางแสน วิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี วิทยาลัยพณิชยการธนบุรี และบริษัท ซีเทค ไดแด็คติค จำกัด
สรุปเรียบเรียง : หงษ์ฟ้า วีระนพรัตน์
กุสุมา นวพันธ์พิมล
กลุ่มงานความร่วมมือระดับภูมิภาค
รายงานโดย : กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
21 ตุลาคม 2567