Loading color scheme

เสมา 2 นำคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมนานาชาติของยูเนสโกด้านอนาคตการศึกษา เมืองซูวอน สาธารณรัฐเกาหลี

ประชุมนานาชาติของยูเนสโก2 3 12 2567

          นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นำคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุมนานาชาติของยูเนสโกด้านอนาคตการศึกษา (UNESCO International Forum on the Future of Education 2024) ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 2-4 ธันวาคม 2567 ณ เมืองซูวอน สาธารณรัฐเกาหลี โดยได้รับความร่วมมือจากกระทรวงศึกษาธิการแห่งสาธารณรัฐเกาหลี สำนักงานการศึกษาจังหวัดคย็องกีโด (สาธารณรัฐเกาหลี) และคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติของสาธารณรัฐเกาหลี (Korean National Commission for UNESCO) ซึ่งการประชุมฯ ดังกล่าว มุ่งหวังที่จะกระตุ้นการเคลื่อนไหวทั่วโลกเพื่อการฟื้นฟูและนวัตกรรมการศึกษา ความมุ่งมั่นของสังคม สิทธิของมนุษย์ที่ช่วยเปิดโอกาส และเป็นหนึ่งในความรับผิดชอบที่สำคัญร่วมกันของรัฐ พลเมือง และสังคม นอกจากนี้ยังเสริมสร้างการเสวนา การมีส่วนร่วม และการร่วมสร้างนโยบาย งานวิจัย และนวัตกรรม แม้ว่าเงื่อนไขของแต่ละประเทศจะมีความแตกต่างกัน แต่ปัญหาและความท้าทายด้านการศึกษาก็ไม่จำกัดอยู่เฉพาะในบริบทใดบริบทหนึ่ง โดยประเทศต่างๆ และภูมิภาคสามารถรวมตัวกันและมีส่วนร่วมเพื่อแก้ปัญหาที่ต้องเผชิญ

ประชุมนานาชาติของยูเนสโก 4 3 12 2567

           รูปแบบการประชุมฯ แบ่งเป็น 1) การประชุมเต็มคณะ (Plenary sessions) (สามารถรับฟังผ่านระบบออนไลน์ Livestream) และ 2) การประชุมคู่ขนานตามหัวข้อย่อย (Parallel sessions) โดยมุ่งพิจารณาการเปลี่ยนแปลงทางความคิด และหลักการพร้อมการปฏิบัติเชิงนวัตกรรม เพื่อสร้างจินตภาพใหม่ด้านการศึกษาและอนาคตที่ยุติธรรมและยั่งยืนมากยิ่งขึ้นสำหรับมนุษยชาติและโลก

          นอกจากนี้ ยังจัดให้มีการประชุมเสวนาระดับนโยบาย (High-level Policy Dialogue) และการบรรยายพิเศษ (Special sessions) เกี่ยวกับนโยบายและยุทธศาสตร์ชาติในการพลิกโฉมการศึกษาของสาธารณรัฐเกาหลี ข้อริเริ่มของภาครัฐในการสร้างการศึกษาใหม่ในบริบทท้องถิ่น และมุมมองเยาวชนต่ออนาคตการศึกษา

ประชุมนานาชาติของยูเนสโก 5 3 12 2567

          การประชุมนานาชาติของยูเนสโกด้านอนาคตการศึกษาในครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญในการร่วมรับฟังข้อมูลเชิงลึกจากนโยบายและกลยุทธ์ระดับชาติในการปฏิรูปการศึกษาในสาธารณรัฐเกาหลี และความพยายามของภาครัฐในการฟื้นฟูการศึกษาที่จังหวัดคย็องกีโด โดยมีผู้บริหารการศึกษา ผู้เชี่ยวชาญ และนักการศึกษา จากนานาประเทศ อาทิ สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเอธิโอเปีย สาธารณรัฐอินเดีย แคนาดา สหรัฐอเมริกา สาธารรณรัฐโกตดิวัวร์ รัฐสุลต่านโอมาน และผู้แทนจากองค์การยูเนสโก สำนักงานใหญ่ ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส เข้าร่วมอภิปรายและประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน

          ในพิธีเปิดการประชุมฯ ได้รับเกียรติจาก H.E. Sahle-Work Zewde ประธานคณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยอนาคตการศึกษา ได้กล่าวให้ความสำคัญในเรื่องของการสร้างความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการกระตุ้นและขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการศึกษาเพื่อก่อให้เกิดแรงผลักดันที่จะช่วยพัฒนา สร้างความเท่าเทียมด้านสิทธิมนุษยชน และการเข้าถึงการศึกษาอย่างเสมอภาค

ประชุมนานาชาติของยูเนสโก 3 12 2567
H.E. Sahle-Work Zewde ประธานคณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยอนาคตการศึกษา

          นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจาก Ms. Stefania Giannini ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโก สำนักงานใหญ่ ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ได้ร่วมในพิธีเปิดและกล่าวถึงที่มาของการจัดการประชุมนานาชาติของยูเนสโกด้านอนาคตการศึกษาในครั้งนี้ พร้อมเน้นย้ำกับประเทศสมาชิกของยูเนสโกที่มาเข้าร่วมการประชุมฯ ในการร่วมมือกันผลักดันให้การดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายของอนาคตด้านการศึกษาอย่างประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์แก่เยาวชนอันเป็นอนาคตและในฐานะพลเมืองของโลกต่อไป

ประชุมนานาชาติของยูเนสโก1 3 12 2567
Ms. Stefania Giannini ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโก

          การประชุมครั้งนี้มุ่งกระตุ้นและผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาการศึกษา โดยพิจารณาอนาคตของการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษาซึ่งถือเป็นทางออกของการแก้ไขปัญหาที่ยิ่งใหญ่ ดังนั้น จึงจำเป็นต่อการส่งเสริมสิทธิของการศึกษาเพื่อความเสมอภาคและครอบคลุม สิ่งสำคัญประการหนึ่ง คือ เรื่องของการพัฒนาครู (Teachers) และการพัฒนาศาสตร์การสอน (Pedagogy) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา ประเด็นสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงไปสู่อนาคตการศึกษาที่ยั่งยืน ต้องอาศัยความร่วมมือและการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนของสังคม และยังได้นำเสนอและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นต่ออนาคตการศึกษา โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนามาตรฐานครู การพัฒนาการศึกษาระดับปฐมวัยถึงอุดมศึกษา การพัฒนาระเบียบวิธีการสอน การบูรณาการเทคโนโลยีและดิจิทัลในการจัดหลักสูตร การสนับสนุนการประยุกต์ใข้ AI ในระบบโรงเรียนการเรียนรู้ดิจิทัล และการส่งเสริมบทบาทของชุมชนให้มีส่วนร่วมทางการศึกษา

ประชุมนานาชาติของยูเนสโก 6 3 12 2567

สรุป / เรียบเรียง : ธนพล ขันธวิชัย
สริญณพัชร์ ธรรมบุศย์
ภัสศรี ศิริประภา
กลุ่มความร่วมมือกับองค์การยูเนสโก
รายงานโดย : กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
3 ธันวาคม 2567