Loading color scheme

รมช.ศธ. ขับเคลื่อนนโยบาย ศธ. “ดิจิทัลและ AI” สู่อนาคตการศึกษา

APCEIU 6 12 2567

           นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หารือความร่วมมือกับศูนย์การศึกษาเพื่อความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Centre of Education for international Understanding: APCEIU) และโรงเรียนชั้นนำด้านดิจิทัลและ AI ของสาธารณรัฐเกาหลี “Samhyook High School” ณ กรุงโซล ในระหว่างการประชุมนานาชาติของยูเนสโกด้านอนาคตการศึกษา (UNESCO International Forum on the Future of Education) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 – 4 ธันวาคม 2567 ณ สาธารณรัฐเกาหลี

APCEIU 2 6 12 2567

          รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมคณะผู้แทนจากประเทศไทย ได้เข้าพบกับ Mr. Lim Hyun Mook ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาเพื่อความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APCEIU) โดยมีคณะผู้บริหารและบุคลากรของศูนย์ฯ ให้การต้อนรับ ศูนย์การศึกษาเพื่อความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศแห่งเอเชียแปซิฟิกเป็นศูนย์ประเภท 2 ขององค์การยูเนสโก (Category 2 centres under the auspices of UNESCO) ซึ่งบริหารจัดการและดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ โดยใช้งบประมาณของรัฐภาคี เพื่อแสดงถึงการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมงานขององค์การยูเนสโก ก่อตั้งในปี ค.ศ. 2000 ตามข้อตกลงระหว่างรัฐบาลสาธารณ รัฐเกาหลีและยูเนสโก เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาด้านการเข้าใจระหว่างประเทศ (Education for International Understanding - EIU) ซึ่งปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ การศึกษาด้านพลเมืองโลก (Global Citizenship Education - GCED) โดย APCEIU มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริม GCED ซึ่งสะท้อนอยู่ทั้งในกรอบการศึกษาของยูเนสโกในปี ค.ศ. 2030 และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs)

APCEIU 1 6 12 2567

         รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวขอบคุณ APCEIU ที่ให้การสนับสนุนและร่วมมือในโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ของกระทรวงศึกษาธิการประเทศไทย พร้อมทั้งกล่าวถึงนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่เน้นการพัฒนาครูให้มีศักยภาพและความสามารถในการจัดการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและ AI เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนมีองค์ความรู้เพื่อต่อยอดในด้านการเรียน และส่งเสริมทักษะที่หลากหลาย มุ่งหวังอนาคตด้านการศึกษาที่เท่าเทียมสู่การเป็นพลเมืองโลก นอกจากนี้ ยังได้หารือประเด็นความร่วมมือโครงการแลกเปลี่ยนครู ซึ่งเป็นโครงการภายใต้ความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการแห่งสาธารณรัฐเกาหลี และศูนย์ APCEIU ในโอกาสนี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้แสดงความสนใจและกล่าวถึงแนวทางความเป็นไปได้ในการเพิ่มจำนวนครูไทยที่จะเข้าร่วมโครงการฯ จากเดิม 12 คนต่อปี ให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

APCEIU 3 6 12 2567

          Mr. Lim Hyun Mook ผู้อำนวยการศูนย์ APCEIU ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างกระทรวงศึกษาธิการประเทศไทยและกระทรวงศึกษาธิการสาธารณรัฐเกาหลี โดยทั้งสองประเทศมีความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนด้านวิชาการ ทรัพยากรบุคคล และการพัฒนาศักยภาพครู เป็นกิจกรรมสำคัญ สำหรับในอนาคต หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถเพิ่มกลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนนักเรียนเพื่อเข้าร่วมโครงการและกิจกรรมที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นประเทศที่ครูชาวเกาหลีใต้ให้ความสนใจในการเข้าร่วมโครงการมากที่สุด

APCEIU 5 6 12 2567

APCEIU 4 6 12 2567

          นอกจากการร่วมหารือกับศูนย์ APCEIU แล้ว นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เยี่ยมชมโรงเรียน Samhyook High School ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี โดยมีคณะผู้บริหารโรงเรียน ครูและนักเรียน ให้การต้อนรับ โรงเรียน Samhyook High School เป็นโรงเรียนภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการสาธารณรัฐเกาหลี และเป็นโรงเรียนเครือข่ายของมหาวิทยาลัย Samhyook เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย และยังเป็น 1 ใน 5 ของโรงเรียนชั้นนำที่มีการใช้ดิจิทัลและ AI (Digital Leading School) ในการจัดการเรียนการสอนของสาธารณรัฐเกาหลี ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้รับฟังการบรรยายและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายการเสริมสร้างทักษะด้านดิจิทัลและ AI ในการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียน ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการสาธารณรัฐเกาหลีมีเป้าหมายในการผลักดันให้โรงเรียนทุกแห่งในประเทศเป็นห้องเรียนดิจิทัล และมีความคาดหวังว่า ครูในอัตราร้อยละ 75 จะมีทักษะด้านดิจิทัลและ AI ในการจัดการเรียนการสอน ภายในปี พ.ศ. 2570

สรุป / เรียบเรียง : ธนพล ขันธวิชัย
สริญณพัชร์ ธรรมบุศย์
ภัสศรี ศิริประภา
กลุ่มความร่วมมือกับองค์การยูเนสโก
รายงานโดย : กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
6 ธันวาคม 2567