ข่าวสารกิจกรรม
รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการกล่าวบรรยายพิเศษ หัวข้อ “Enhancing English Proficiency and Teaching Standards in Thailand” ในการประชุมวิชาการนานาชาติของสมาคมครูผู้สอนภาษาอังกฤษแห่งประเทศไทยฯ ครั้งที่ 44 (44th Thailand TESOL International Conference)
เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2568 นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับมอบหมายจากปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติของสมาคมครูผู้สอนภาษาอังกฤษแห่งประเทศไทยฯ ครั้งที่ 44 (44th Thailand TESOL International Conference) ภายใต้หัวข้อ “Exploring the New Frontiers of ELT for a Better Tomorrow: Innovative Curriculum, Pedagogy, and Assessment” ณ กรุงเทพมหานคร โดยการประชุมครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับการสอนภาษาอังกฤษ ทั้งในด้านหลักสูตร นวัตกรรมการสอน และการประเมินผล มีผู้เข้าร่วมกว่า 600 คนจาก 30 ประเทศทั่วโลก
ในการนี้ นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี ได้กล่าวบรรยายพิเศษในหัวข้อ “Enhancing English Proficiency and Teaching Standards in Thailand” โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษให้กับนักเรียนและครูไทย โดยอ้างอิงผลการประเมินความสามารถภาษาอังกฤษของ EF ในปี 2567 ซึ่งประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 106 จาก 116 ประเทศทั่วโลก และอันดับที่ 21 จาก 23 ประเทศในเอเชีย
เพื่อเป็นการรับมือกับความท้าทายดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดนโยบาย “เรียนดี มีความสุข (Happy Learning)” โดยมุ่งสร้างแรงจูงใจให้ผู้เรียนมีความสนุก เพลิดเพลินในการเรียนรู้ และมั่นใจในการใช้ภาษาอังกฤษ รวมถึงจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาภาษาต่างประเทศเพื่อการสื่อสารสำหรับประชาชนทุกช่วงวัย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จึงได้ประยุกต์ใช้กรอบมาตรฐานสากล CEFR เพื่อมาใช้ในการดำเนินโครงการ/กิจกรรม เพื่อยกระดับความสามารถทางภาษาอังกฤษของนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา โดยมีการบูรณาการเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการพัฒนาหลักสูตรและอบรมครู เพื่อให้สามารถนำไปปรับใช้กับการจัดการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ
อนึ่ง สมาคมครูผู้สอนภาษาอังกฤษแห่งประเทศไทยฯ (Thailand TESOL) ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในทุกระดับชั้น พร้อมทั้งร่วมมือกับหน่วยงานและองค์กรต่างประเทศ เช่น TESOL, Inc. (สหรัฐอเมริกา), IATEFL (สหราชอาณาจักร), JALT and JALT (ญี่ปุ่น) Korea TESOL, KATE และ ALAK (สาธารณรัฐเกาหลี) CamTESOL (กัมพูชา) SEAMEO RELC (สิงคโปร์) และ Asia TEFL เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือระดับนานาชาติ
การประชุมครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการยกระดับการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทย เพื่อสร้างนักเรียนและครูที่มีความพร้อมสำหรับการเป็นส่วนหนึ่งในประชาคมโลกที่เชื่อมต่อกันอย่างไร้พรมแดน
สรุปเรียบเรียง : หงษ์ฟ้า วีระนพรัตน์
รายงานโดย : กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
24 มกราคม 2568