ข่าวสารกิจกรรม
กระทรวงศึกษาธิการหารือความร่วมมือกับบริติช เคานซิล ประเทศไทย เดินหน้าพัฒนาศักยภาพครูสอนภาษาอังกฤษ
เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2568 เวลา 15.30 น. นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับมอบหมายจากปลัดกระทรวงศึกษาธิการในการหารือร่วมกับ Mr. Danny Whitehead ผู้อำนวยการบริติช เคานซิล ประเทศไทย และ Mr. Ewan Macrae หัวหน้าฝ่ายวิชาการ พร้อมด้วยทีมงานด้านโครงการและการทดสอบภาษาอังกฤษ ณ ห้องประชุมจันทรเกษม กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีผู้แทนจากกระทรวงศึกษาธิการเข้าร่วม ได้แก่ หม่อมหลวงปริยดา ดิศกุล ประธานกรรมการส่งเสริมการพัฒนาภาษาต่างประเทศเพื่อการสื่อสารสำหรับประชาชน ทุกช่วงวัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พลรพี ทุมมาพันธ์ รองเลขาธิการคุรุสภา ผู้แทนจากศูนย์บริหารงานการพัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กรมส่งเสริมการเรียนรู้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
การหารือครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนและต่อยอดความร่วมมือด้านการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของครู ภายใต้โครงการ ReBoot project ซึ่งเป็นโครงการฝึกอบรมครูภาษาอังกฤษผ่านระบบออนไลน์ โดยในปี 2566 บริติช เคานซิล ประเทศไทย ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดโครงการนำร่อง ReBoot pilot project: an online Continuing Professional Development (CPD) programme ให้แก่ครูภาษาอังกฤษและครูแกนนำจากศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ (Human Capital Excellence Center: HCEC) จำนวน 200 คน ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี และในปี 2568 บริติช เคานซิล ประเทศไทย มีแผนขยายโครงการไปยังโรงเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในภาคใต้ โดยได้รับความร่วมมือจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี ได้กล่าวขอบคุณบริติช เคานซิล ประเทศไทย ที่ให้การสนับสนุนกระทรวงศึกษาธิการมาอย่างต่อเนื่อง และได้หารือเกี่ยวกับการจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการและสหราชอาณาจักร ซึ่งจะครอบคลุมความร่วมมือด้านการศึกษาและเทคโนโลยี พร้อมทั้งหารือแนวทางพัฒนาศักยภาพครูภาษาอังกฤษ โดยหม่อมหลวงปริยดา ดิศกุล ได้เสนอแนวคิดการใช้เทคโนโลยีและแอปพลิเคชันในการพัฒนาการสอน รวมถึงโครงการส่งเสริมการใช้ภาษาอังกฤษในชุมชน เช่น English Village Buriram Reform ที่สนับสนุนให้ประชาชนใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน โดยเริ่มนำร่องที่จังหวัดบุรีรัมย์ นอกจากนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พลรพี ทุมมาพันธ์ ได้นำเสนอแนวทางการพัฒนาคุณสมบัติครูภาษาอังกฤษให้อยู่ในระดับมาตรฐาน การอบรมเพื่อเพิ่มศักยภาพครู ตลอดจนการพัฒนาความรู้ด้านอื่น ๆ เช่น หลักสูตรการรู้เท่าทันทางการเงิน (Financial Literacy Training Course)
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังได้หารือเกี่ยวกับความท้าทายในการพัฒนาครูภาษาอังกฤษในระดับอาชีวศึกษา เพื่อให้สามารถถ่ายทอดความรู้ภาษาอังกฤษทั้งในวิชาสามัญและวิชาชีพแก่ผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากในปัจจุบัน ตลาดแรงงานให้ความสำคัญกับทักษะภาษาอังกฤษเป็นอย่างมาก จึงจำเป็นต้องเพิ่มจำนวนและยกระดับคุณภาพของครูภาษาอังกฤษให้ตรงตามมาตรฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในศูนย์การเรียนชุมชนของกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ซึ่งยังขาดแคลนครูผู้สอนภาษาอังกฤษ นอกจากนี้ ยังมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาวิชาชีพครูตั้งแต่ระดับมหาวิทยาลัย และการวัดและประเมินผลภาษาอังกฤษให้ตอบสนองต่อกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่ม
บริติช เคานซิล ประเทศไทย ตระหนักถึงความท้าทายดังกล่าว และแสดงความพร้อมในการสนับสนุนกระทรวงศึกษาธิการในการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ รวมถึงการประเมินผลให้ได้มาตรฐานสากล เพื่อเสริมสร้างโอกาสทางการศึกษาและอาชีพให้แก่ครูและนักเรียนในประเทศไทยต่อไป
สรุป/เรียบเรียง : รัชนินท์ พงศ์อุดม
ภัสศรี ศิริประภา
กลุ่มความร่วมมือทวิภาคี
รายงานโดย : กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
29 มกราคม 2568