เสียงจากทศวรรษแห่งมหาสมุทร ถาม-ตอบกับปีเตอร์ ทอมสัน: สุขภาพในอนาคตของเราขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของมหาสมุทร
ภาพประกอบจาก https://en.unesco.org/news/voices-ocean-decade-qa-peter-thomson-our-future-health-depends-health-ocean
เสียงจากทศวรรษแห่งมหาสมุทร
ถาม-ตอบกับปีเตอร์ ทอมสัน: สุขภาพในอนาคตของเราขึ้นอยู่กับ
ความสมบูรณ์ของมหาสมุทร
(Voices of the Ocean Decade – Q&A with Peter Thomson:
Our future health depends on the health of the ocean)
-----------------------------------------------------------
นายปีเตอร์ ทอมสัน (Mr. Peter Thomson) ผู้แทนพิเศษเลขาธิการสหประชาชาติด้านกิจการทางทะเลและมหาสมุทร (United Nations Secretary General’s Special Envoy for the Ocean) ได้ตอบคำถามเกี่ยวกับ “ทศวรรษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสมุทรศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” (The UN Decade of Ocean Science for Sustainable Development) หรือที่เรียกว่า ทศวรรษแห่งมหาสมุทร ที่จะเกิดขึ้นในเดือนมกราคม ค.ศ. 2021 รวมทั้งความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเจตจำนงทางการเมืองในการตัดสินใจอย่างเหมาะสมเพื่อคุณภาพของมหาสมุทรและของมนุษย์ที่ดีในอนาคต
นายทอมสัน กล่าวว่า พื้นผิวโลกถูกปกคลุมด้วยมหาสมุทรถึงร้อยละ 70 ของพื้นที่ทั้งหมด แต่ปัจจุบัน ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมหาสมุทรในเชิงวิทยาศาสตร์มีเพียงร้อยละ 10 ซึ่งไม่เพียงพออย่างเห็นได้ชัด จึงเป็นสาเหตุที่ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้ประกาศ “ทศวรรษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยวิทยาศาสตร์มหาสมุทรเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” เพื่อส่งเสริมให้เกิดความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในเรื่องดังกล่าวมากขึ้น และนำไปสู่การตัดสินใจที่เหมาะสมต่อไปในอนาคต
ในรายงานภาวะโลกร้อนฉบับพิเศษของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ IPCC (Intergovernmental Panel on Climate Change) ระบุว่าเมื่ออุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงกว่า 2 องศาเซลเซียสของระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม (pre-industrial level) เราจะสูญเสียแนวปะการังซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของความหลากหลายทางชีวภาพในมหาสมุทรประมาณร้อยละ 30 ทำให้เกิดความเสียหายต่อความอุดมสมบูรณ์ของมหาสมุทรและระบบนิเวศของโลก เนื่องจากมหาสมุทรเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของโลกใบนี้ ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นในมหาสมุทรจะเป็นตัวกำหนดความอยู่รอดของมนุษย์ และโชคชะตาของมนุษย์มีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับแนวปะการังในมหาสมุทร
ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบนิเวศของมหาสมุทรอย่างถ่องแท้ ไม่ว่าจะเป็นคุณสมบัติทางพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลลึก หรือชีวนิเวศ จะทำให้มนุษย์สามารถหาแหล่งอาหารรูปแบบใหม่ที่ยั่งยืนได้ มากกว่าการล่าปลาที่อาศัยตามธรรมชาติซึ่งมีจำนวนลดน้อยลง ในแง่ของพลังงาน ลมทะเลเพียงอย่างเดียวสามารถให้พลังงานได้มากถึง 10 เท่าของความต้องการใช้พลังงานของมนุษย์ ซึ่งจะนำไปสู่การเกิด “เศรษฐกิจสีน้ำเงิน” (Blue economy) ที่ยั่งยืน
สำหรับการเตรียมการสำหรับทศวรรษแห่งมหาสมุทร ขณะนี้ คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยสมุทรศาสตร์ของยูเนสโก (The Intergovernmental Oceanographic Commission of UNESCO) หรือ IOC ได้ดำเนินการให้คำปรึกษาแก่ทั่วทุกภูมิภาคของโลกอย่างยอดเยี่ยม นอกจากนี้ การจัดทศวรรษแห่งมหาสมุทรจะต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาคมวิทยาศาสตร์ในการสร้างความตระหนัก ความอยากรู้ และความสนใจเกี่ยวกับมหาสมุทรแก่สาธารณชนในวงกว้าง เนื่องจากปัจจุบัน มหาสมุทรมีสภาพเป็นกรด และระดับออกซิเจนลดลง รวมทั้งระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นอาจทำให้ประเทศที่เป็นหมู่เกาะ หรือเกาะรูปวงแหวนที่เกิดจากหินปะการัง (Atoll) ชายฝั่งที่อยู่ในพื้นที่ต่ำ และพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำทั่วโลกจมอยู่ใต้น้ำ เมืองขนาดใหญ่บนดินแดนลุ่มน้ำตามแนวชายฝั่งหลายแห่งอาจถูกน้ำท่วมด้วยเช่นกัน การจัดทศวรรษแห่งมหาสมุทรนี้จะทำให้เกิดรูปแบบความร่วมมือที่เข้มแข็งระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วน ทั้งสถาบันการศึกษา องค์กรพัฒนาเอกชน องค์การระหว่างประเทศ และภาคเอกชน ซึ่งเป็นเรื่องที่สหประชาชาติพยายามส่งเสริมผ่านระบบพหุภาคี
ผู้นำรัฐบาลประสบกับความยากลำบากในการลงทุนประเภทต่าง ๆ ในการเปลี่ยนแปลงเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตัวอย่างเช่น การควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศที่อาจนำไปสู่การเกิดไฟไหม้ป่าครั้งใหญ่ พายุเฮอริเคนที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น น้ำท่วม ภาวะขาดแคลน (โดยเฉพาะอาหาร) โรคระบาด และแนวปะการังตาย นอกจากที่กล่าวมาข้างต้น ส่วนสำคัญที่สุดของความท้าทายอาจเป็นการทำให้ผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ตกลงที่จะร่วมมือกันเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ โดยมุ่งหวังที่จะเห็นความตกลงดังกล่าวเกิดขึ้นในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (The Conference of the Parties to the United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC COP) ครั้งต่อไปซึ่งจะจัดขึ้น ณ เมืองกลาสโกลว์ สหราชอาณาจักร พร้อมด้วยรัฐบาลที่มาพร้อมกับการมีส่วนร่วมที่ประเทศกําหนด (Nationally Determined Contribution: NDC) ฉบับปรับปรุงใหม่ ทั้งนี้ ประเด็นหลักของประชาคมมหาสมุทร คือ การลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกเท่านั้นที่จะทำให้เรามั่นใจในความสมบูรณ์ของมหาสมุทรและสุขภาพของตัวเราเองในอนาคต
อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่เว็บไซต์ https://en.unesco.org/news/voices-ocean-decade-qa-peter-thomson-our-future-health-depends-health-ocean
*******************************************************************
ข้อมูล : องค์การยูเนสโก (UNESCO)
แปล/สรุปโดย กุณฑิกา พัชรชานนท์
เรียบเรียงโดย สุปราณี คำยวง
รายงานโดย: กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป. กระทรวงศึกษาธิการ
ข้อมูล ณ: วันที่ 8 พฤษภาคม 2563