ข่าวความเคลื่อนไหว
ไทยสนับสนุนยูเนสโก เพื่อศึกษาการสร้างมาตรฐานทางจริยธรรมเกี่ยวกับการใช้ปัญญาประดิษฐ์
นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการด้านสังคมศาสตร์ (Social and Human Sciences Commission – SHS) ระหว่างวันที่ 20 – 21 พฤศจิกายน 2562 ในการประชุมสมัยสามัญของยูเนสโก ครั้งที่ 40 ณ องค์การยูเนสโก สำนักงานใหญ่ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยการประชุมดังกล่าวมีวาระที่สำคัญคือ การศึกษาเบื้องต้นเกี่ยวกับการสร้างมาตรฐานทางจริยธรรมในการใช้ประโยชน์จากปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Preliminary study on a possible standard-setting instrument on the ethics of artificial intelligence) โดยเทคโนโลยีด้าน AI ในปัจจุบันได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็วและสร้างประโยชน์ให้กับมนุษย์มากมาย แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบและปัญหาเชิงจริยธรรมในการใช้ประโยชน์จาก AI ทั้งในเรื่องการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล และฐานข้อมูลที่อาจก่อให้เกิดการเอนเอียงไปตามกระแส อีกทั้งการใช้ AI ยังไม่เป็นที่ยอมรับในบางประเทศ เป็นต้น ดังนั้น ยูเนสโกจึงเสนอให้มีการศึกษาเพื่อจัดทำเครื่องมือสำหรับพัฒนากรอบจริยธรรมเรื่อง AI ขึ้น ให้เป็นมาตรฐานระดับนานาชาติในรูปแบบของข้อเสนอแนะ (Recommendation) และสอดคล้องกับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนและสิทธิมนุษยชน ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบให้มีการศึกษาและดำเนินการตาม roadmap ต่อไป
ในการนี้ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์) ได้กล่าวในที่ประชุมว่า ประเทศไทยสนับสนุนยูเนสโกในการจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับ AI โดยที่ผ่านมา ไทยมีความตระหนักและให้ความสำคัญต่อประเด็นปัญหาเรื่อง AI มาตลอด ซึ่งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้จัดการประชุมเชิงวิชาการว่าด้วยจริยธรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการพัฒนาที่ยั่งยืน (Conference on the Ethics of Science & Technology, and Sustainable Development ในระหว่างการประชุมคณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยชีวจริยธรรม ครั้งที่ 26 (the 26thSession of the International Bioethics Committee – IBC) และการประชุมคณะกรรมาธิการโลกว่าด้วยจริยธรรมในความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 11 (The 11th Session of the World Commission on the Ethics of Scientific Knowledge and Technology - COMEST) เพื่อให้เกิดความตระหนักเรื่องผลกระทบของความเจริญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงประเด็นเรื่อง AI, Robotics และ Big Data การจัด Conference ดังกล่าวประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี และที่ประชุมตอบรับถ้อยแถลง Bangkok Statement on the Ethics of Science & Technology, and Sustainable Development ซึ่งกล่าวถึงการส่งเสริมให้มีการจัดทำแนวทางและกรอบการดำเนินการระดับนานาชาติเกี่ยวกับจริยธรรมด้าน AI ด้วย ดังนั้น จึงสนับสนุนให้ยูเนสโกจัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญระหว่างรัฐบาลเพื่อดำเนินการในเรื่องดังกล่าวต่อไป
****************************************************
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
21 พฤศจิกายน 2562
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
21 พฤศจิกายน 2562