ข่าวความเคลื่อนไหว
ความร่วมมือด้านการศึกษาแก่เด็กด้อยโอกาส ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการและยูนิเซฟ
เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน เวลา 10.00 น. ณ ห้องรับรองจันทรเกษม กระทรวงศึกษาธิการ นายโธมัส ดาวิน (Mr. Thomas Davin) ผู้แทนยูนิเซฟประจำประเทศไทย ได้เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อแนะนำตัวและหารือเกี่ยวกับกรอบการทำงานเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการ ศึกษา รวมถึงการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาการศึกษาในประเทศไทยภายใต้ ความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการและยูนิเซฟ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวยินดีที่ยูนิเซฟมีความร่วมมือด้าน การศึกษากับประเทศไทยมาโดยตลอด ในขณะนี้ มีหลายประเด็นด้านการศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญและอยู่ใน ระหว่างการแก้ไขปัญหา ได้แก่ ปัญหาเด็กตกหล่น การพัฒนาคุณภาพครู ปัญหาความรุนแรงในโรงเรียน การศึกษาสำหรับเด็กติดตามแรงงาน เป็นต้น ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้จัดตั้งคณะกรรมการ/คณะทำงานเพื่อศึกษาปัญหาเหล่า นี้ รวมถึงสนับสนุนงบประมาณในการจัดการศึกษาอย่างทั่วถึงให้กับเด็กทุกคนใน ประเทศไทย นอกจากนี้ ยังได้มีการดำเนินการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการส่งเสริมการ จัดการศึกษาที่มีคุณภาพภายใต้โครงการโรงเรียนประชารัฐ ซึ่งขณะนี้มีโรงเรียนนำร่องจำนวน 3,000 กว่าแห่ง ที่จะร่วมมือกันทำงานเพื่อการศึกษาทั้งภาคเอกชนและภาคประชาสังคม
ผู้แทนยูนิเซฟได้กล่าวชื่นชมการดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการที่ให้ความ สำคัญต่อการส่งเสริมการศึกษาของเด็ก โดยเฉพาะการนำประเด็นปัญหาต่างๆ มาแก้ไขอย่างจริงจังและเปิดเผย โดยยูนิเซฟมีความยินดีที่จะช่วยเหลือและสนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบายของ รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ยูนิเซฟได้มีความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการในหลายโครงการ เช่น การพัฒนาคุณภาพและการเข้าถึงการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงมัธยมศึกษา ทั้งในระบบและนอกระบบโรงเรียน การจัดการศึกษาแก่เด็กยากจน การพัฒนาครู การจัดการศึกษาสำหรับเด็กผู้ที่ไม่ได้อยู่ในระบบ การศึกษาแบบคละชั้น นโยบายการปกป้องคุ้มครองเด็กในโรงเรียน เป็นต้น
ในส่วนของการพัฒนาการศึกษา ยูนิเซฟมีความประสงค์ที่จะช่วยสนับสนุนการส่งเสริมกระบวนการเรียน การเสริมสร้างทักษะการใช้ชีวิตของผู้เรียน โดยเฉพาะด้านความคิดสร้างสรรค์ และการคิดวิเคราะห์ ในเรื่องนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวถึงนโยบายลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ทักษะและพัฒนาความถนัดของตน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ขอความร่วมมือจากยูนิเซฟในการจัดทำ ข้อเสนอแนวทางในการพัฒนาการเรียนการสอนของไทยที่ครบวงจร เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศไทย
นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงการที่ประเทศไทยได้นำเสนอปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้าง ความเข้มแข็งทางการศึกษาให้แก่เด็กตกหล่น หรือเด็กด้อยโอกาสในระหว่างการ ประชุมรัฐมนตรีศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 9 และได้รับมอบหมายให้เป็นประเทศผู้นำในการจัดทำแผนปฏิบัติการข้างต้น จึงขอความร่วมมือจากยูนิเซฟในการจัดส่งข้อมูลแนวปฏิบัติที่ดี ประสบการณ์ หรือการถอดบทเรียนเรื่องการจัดการศึกษาให้แก่เด็กตกหล่น เพื่อประเทศไทยใช้เป็นแนวทางในการจัดทำแผนปฏิบัติการต่อไป รวมทั้ง ได้ขอความร่วมมือจากยูนิเซฟให้การสนับสนุนและแลกเปลี่ยนข้อมูลในกิจกรรมที่ ยูนิเซฟดำเนินการอยู่ เช่น การสำรวจติดตามการใช้จ่ายภาครัฐด้านการศึกษา (Public Expenditure Tracking Survey – PETS) เพื่อสำรวจการใช้จ่ายและประสิทธิภาพในการบริหารจัดการด้านงบประมาณการศึกษา ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและอาชีวศึกษา รวมถึงความร่วมมือเกี่ยวกับการแก้ไขความรุนแรงในโรงเรียน ซึ่งองค์การยูนิเซฟได้แจ้งว่ามีกรอบการดำเนินงานเพื่อลดความรุนแรงในสถาน ศึกษาซึ่งได้ดำเนินการร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
****************************************
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
13 มิถุนายน 2559