Loading color scheme

ไทยร่วมถกความสำคัญของการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในเวทีโลก

ESD 18 5 2564

          นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ร่วมอภิปรายในการประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรี ในระหว่างการประชุมระดับโลกว่าด้วยการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (UNESCO World Conference on Education for Sustainable Development (ESD) ซึ่งองค์การยูเนสโกร่วมกับรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีจัดประชุมในรูปแบบทางไกล ถ่ายทอดสดจาก Berlin Congress Center กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ระหว่างวันที่ 17-19 พฤษภาคม 2564

ESD1 18 5 2564

          ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยได้นำเสนอข้อริเริ่มของไทยด้านการส่งเสริม ESD ผ่านวีดิทัศน์ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 โดยกล่าวถึงความสำคัญของการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในฐานะที่เป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนเป้าหมาย SDGs ให้บรรลุผลภายในปี 2573 โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งในปัจจุบันและที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้น จึงจำเป็นที่ทั่วโลกต้องมีพันธกรณีในการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ยังเชิญชวนให้ตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาในการเตรียมความพร้อมคนรุ่นใหม่ให้มีทักษะที่จำเป็นเพื่อรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของโลก และประเด็นปัญหาระดับโลกต่างๆ ที่เกิดขึ้น สำหรับประเทศไทยมีการจัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งมีความสอดคล้องกับแนวคิดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน อีกทั้งในปัจจุบันได้พัฒนากิจกรรมนอกหลักสูตรที่มุ่งเน้นประเด็นปัญหาระดับโลก อาทิ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ การลดภัยพิบัติ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม การส่งเสริมสมรรถนะของนักเรียนให้มีความรู้ความเข้าใจแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลก และค่านิยมต่างๆ ซึ่งเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

ESD2 18 5 2564

          การประชุมระดับโลกว่าด้วยการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นการประชุมเพื่อสร้างความตระหนักต่อข้อท้าทายของการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ตลอดจนบทบาทสำคัญของการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ESD) ในการส่งเสริมให้เกิดการบรรลุเป้าหมาย SDGs โดยเฉพาะในสภาวะการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 และผลักดันการดำเนินการตามกรอบการดำเนินงานด้าน ESD ฉบับใหม่ (The new global framework ESD for 2030 for the period of 2020-2030) รวมถึงแผนยุทธศาสตร์การดำเนินงาน โดยการให้ข้อตกลงร่วมกันด้านนโยบายการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในรูปแบบแถลงการณ์กรุงเบอร์ลิน (Berlin Declaration) ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยรัฐมนตรีศึกษา ผู้ปฏิบัติงานด้านการกำหนดนโยบายการศึกษา และด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับ SDGs ผู้แทนหน่วยงานภาคประชาสังคม หน่วยงานภาคเอกชน และผู้เชี่ยวชาญ จำนวนกว่า 2,500 คน จากทุกภูมิภาคทั่วโลก ทั้งนี้ พิธีเปิดการประชุมจัดขึ้นเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 โดย นางสาวออเดรย์ อาซูเลย์ (Ms. Audrey Azoulay) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโก และนางสาวอังเกลา แมร์เคิล (Ms. Angela Merkel) นายกรัฐมนตรีเยอรมนี จากนั้นได้มีกิจกรรมอย่างหลากหลาย อาทิ การบรรยายสร้างแรงบันดาลใจ (Keynote speech) เพื่อการก้าวข้ามข้อท้าทายในการส่งเสริมเรื่อง ESD และแนวทางการดำเนินงานในอนาคต การประชุมเต็มคณะ (Plenary session) ว่าด้วยการสร้างความเปลี่ยนแปลงในขณะที่โลกกำลังเผชิญกับวิกฤต และการเปิดเวทีเพื่อสร้างเครือข่ายระหว่างกัน เป็นต้น

          สำหรับคณะผู้แทนไทยในการประชุมครั้งนี้ ประกอบด้วย ที่ปรึกษาด้านความร่วมมือกับต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์) และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และผู้แทนสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

สรุปและเรียบเรียง : พนิดา ทวีลาภ
สุปราณี คำยวง
ข้อมูล : กลุ่มความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ
รายงานโดย : กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
ข้อมูล ณ : วันที่ 18 พฤษภาคม 2564