Loading color scheme

รมว.ศธ. ศึกษาดูงานวิทยาลัยการอาชีพของฝรั่งเศส

unesco 15 11 2564

เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 เวลา 14.30 น. ตามเวลากรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้ศึกษาดูงานที่ Lycee Jean Drouant ซึ่งเป็นวิทยาลัยการอาชีพสอนการโรงแรมที่เก่าแก่ของกรุงปารีส โดยมี Mr. Michel Ryckebusch ผู้บริหารของสถานศึกษาและคณะครูได้ให้การต้อนรับ พร้อมบรรยาย ตอบข้อซักถามเกี่ยวกับการเรียนการสอน รวมทั้งเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการต่าง ๆ ด้วย

unesco6 15 11 2564

          Lycee Jean Drouant ก่อตั้งในปี 2477 โดย Mr Jean Drouant ประธานผู้ก่อตั้งสมาคมการโรงแรม ได้ริเริ่มการสอนสายอาชีพด้านการโรงแรม การอาหาร และการจัดเลี้ยงในวิทยาลัยแห่งนี้ มีการเรียนการสอนเทียบเท่าระดับปวช. และ ปวส. ภายใต้หลักสูตรด้านการบริการและการตลาด หลักสูตรด้านเทคโนโลยีเกี่ยวกับ การโรงแรมและการจัดเลี้ยง และหลักสูตระดับอุดมศึกษา (เทียบเท่า ปวส.) ด้านการจัดการและบริหารที่พักอาศัย การจัดเลี้ยง และการผลิตอาหาร ห้องเรียนประกอบด้วยแล็บปฏิบัติการต่างๆ เช่น ห้องครัว ห้องขนม และห้องอาหารสำหรับฝึกปฏิบัติจริงด้านการจัดเลี้ยง เป็นต้น วิทยาลัยใช้หลักสูตรภายใต้กระทรวงศึกษาธิการและพัฒนาหลักสูตรร่วมกับภาคเอกชนต่างๆ มีเครือข่ายความร่วมมือกับสถานประกอบการด้านการโรงแรม ร้านอาหารหลายแห่งเพื่อรองรับการทำงานของนักเรียนที่จบการศึกษา งบประมาณของวิทยาลัยได้รับ การจัดสรรจากรัฐ และส่วนท้องถิ่น การจัดการเรียนการสอนเน้นการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ทุนสนับสนุนนักเรียนที่ยากจน/ขาดแคลน การฝึกงาน และการแลกเปลี่ยนนักเรียนทั่วโลก

unesco1 15 11 2564

          จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ผ่านมา ทำให้วิทยาลัยต้องปิดชั่วคราวไประยะหนึ่งเมื่อช่วงเดือนมีนาคม 2564 อย่างไรก็ตาม รัฐบาลฝรั่งเศสได้ให้การช่วยเหลือและสนับสนุนให้ดำเนินการเรียนการสอนเป็นปกติตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 โดยปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านสาธารณสุขอย่างเข้มงวด ปัจจุบันนักเรียนและครูได้รับการฉีดวัคซีนแล้วกว่าร้อยละ 80

unesco4 15 11 2564

          ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ร่วมหารือกับผู้บริหารในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ การจัดการบริหารของสถานศึกษาทั้งด้านการบริหารงบประมาณ หลักสูตร ตลอดจนแนวคิดที่มีต่อการศึกษาของชาวฝรั่งเศส โดยพบว่างบประมาณของวิทยาลัยได้รับการสนับสนุนส่วนหนึ่งจากรัฐบาลกลางและอีกส่วนหนึ่งได้รับสนับสนุนจากส่วนท้องถิ่น โดยหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนของฝรั่งเศสนั้นมีความเสมอภาคและเท่าเทียม ตาม motto ของรัฐที่ทุกคนต้องมีเสรีภาพ ความเสมอภาค และความเป็นภราดรภาพ ระหว่างกัน - Liberte, Egalite, et Fraternite - อย่างไรก็ดี ปัจจุบันสัดส่วนการเลือกเรียนสายสามัญของนักเรียนฝรั่งเศสยังคงสูงกว่าสายอาชีพ ซึ่งวิทยาลัยจำเป็นจึงต้องปรับตัวและพัฒนาแนวการสอนให้มีคุณภาพ สอดรับกับความต้องการตลาดแรงงาน นอกจากนี้ รัฐมนตรีฯ ยังได้พบปะกับนักเรียนไทยในสถานศึกษาแห่งนี้ระหว่างการดูงานด้วย

unesco3 15 11 2564

          ในตอนท้าย ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่าหากสถาบันการศึกษาของไทยและฝรั่งเศสได้ร่วมมือกันในการพัฒนา การเรียนสายอาชีพด้านการโรงแรมจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพเพื่อรองรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศต่อไป

สรุปและเรียบเรียงโดย : รัชนินท์ พงศ์อุดม
สุปราณี คำยวง
กลุ่มความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ
กชกร คัตตพันธ์ อาสิฬเฎร์
คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
รายงานโดย : กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
15 พฤศจิกายน 2564