ข่าวความเคลื่อนไหว
เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสประจำประเทศไทยเข้าเยี่ยมคารวะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 เวลา 10.00 น. นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการให้การต้อนรับนายตีแยรี มาตู (H.E. Mr. Thierry Mathou) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสประจำประเทศไทย และนางแอฟว์ ลูแบ็ง (Mrs. Eve Lubin) ที่ปรึกษาฝ่ายวัฒนธรรมและความร่วมมือ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสประจำประเทศไทยในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะและหารือความร่วมมือด้านการศึกษา โดยมีนายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และนายสมทรง งามวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมการหารือฯ ณ ห้องดำรงราชานุภาพ อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวต้อนรับเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสฯ พร้อมทั้งกล่าวขอบคุณสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสฯ ที่อำนวยความสะดวกให้แก่คณะผู้แทนไทยที่เดินทางไปสาธารณรัฐฝรั่งเศสเพื่อเข้าร่วมการประชุมสมัยสามัญของยูเนสโก ครั้งที่ 41 เมื่อช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยคณะผู้แทนไทยได้มีโอกาสเยี่ยมชมและหารือร่วมกับผู้บริหาร Lycée Jean Drouant ซึ่งเป็นวิทยาลัยการอาชีพสาขาการโรงแรมที่เก่าแก่ของกรุงปารีส
เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสฯ กล่าวขอบคุณรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่สละเวลาให้เข้าพบหารือในครั้งนี้ และมีความยินดีที่จะอำนวยความสะดวกและจัดการศึกษาดูงานให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและคณะในการเดินทางไปสาธารณรัฐฝรั่งเศสครั้งต่อไป โดยเฉพาะการจัดเยี่ยมชมสถาบันอาชีวศึกษาซึ่งถือเป็นหนึ่งในวาระสำคัญของความร่วมมือระหว่างไทยกับฝรั่งเศส นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตฯ ได้แจ้งแผนการดำเนินกิจกรรมในปี 2565 เพื่อส่งเสริมการเรียนภาษาฝรั่งเศส ได้แก่ การจัดสอบวัดระดับความรู้ภาษาฝรั่งเศสของนักเรียนระดับมัธยมศึกษา (DELF Scolaire) ในวันที่ 23 มกราคม 2565 ซึ่งจะแบ่งเป็น 7 สนามสอบ ประกอบด้วย โรงเรียนในกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ เชียงราย และภูเก็ต และการจัดโครงการฝึกอบรมภาษาฝรั่งเศสให้แก่ครูสอนภาษาฝรั่งเศสจากประเทศไทย สปป. ลาว และกัมพูชา โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จัดอบรมในเดือนมิถุนายน 2565 เป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์
ในการนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการขยายความร่วมมือด้านการศึกษา ได้แก่
1) ด้านการอาชีวศึกษา เอกอัครราชทูตฯ แจ้งว่า ฝรั่งเศสกำลังพัฒนาการอาชีวศึกษาในสาขาการท่องเที่ยวและการโรงแรม จะแบ่งการฝึกอบรมเป็น 2 ระดับ ได้แก่ ระดับอาชีวศึกษา และอุดมศึกษาโดยดำเนินการร่วมกับมหาวิทยาลัยท้องถิ่นและเครือข่ายโรงเรียนฝึกอบรมด้านการท่องเที่ยวและการโรงแรม ซึ่งยินดีจะจัดส่งข้อเสนอความร่วมมือดังกล่าวให้กระทรวงศึกษาธิการพิจารณา และพร้อมที่จะประสานกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดการประชุมหารือในรายละเอียดต่อไป
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวว่า การท่องเที่ยวและการโรงแรมเป็นสาขาหนึ่งที่ประเทศไทยให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน จึงยินดีที่จะดำเนินความร่วมมือกับฝ่ายฝรั่งเศส เนื่องจากเห็นว่าเป็นโอกาสดีสำหรับนักเรียนและนักศึกษาอาชีวะที่จะได้มีประสบการณ์ด้านการฝึกอบรมและการทำงานในฝรั่งเศส ซึ่งมีความเป็นมาตรฐานระดับโลก และเห็นควรเชิญกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินการด้วย
2) ด้านการพัฒนาทักษะภาษาฝรั่งเศสสำหรับนักเรียน เอกอัครราชทูตฯ กล่าวว่า สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสฯ ได้ดำเนินความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการภายใต้โครงการผู้ช่วยสอนภาษาฝรั่งเศส โดยการนำนักศึกษาที่กำลังศึกษาระดับปริญญาโทด้านการสอนภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาต่างประเทศจากมหาวิทยาลัยในฝรั่งเศสมาปฏิบัติหน้าที่ผู้ช่วยสอนภาษาฝรั่งเศสในโรงเรียนมัธยมศึกษาของไทยเป็นประจำทุกปี โครงการฯ มีระยะเวลาประมาณ 3 เดือน แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้โครงการดังกล่าวหยุดดำเนินการตั้งแต่ปี 2562 จึงประสงค์ที่จะเริ่มดำเนินโครงการฯ อีกครั้งในปีการศึกษา 2565 เนื่องจากได้รับผลตอบรับที่ดีจากโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ ฝ่ายฝรั่งเศสจะเริ่มกระบวนการคัดเลือกนักศึกษาจากฝรั่งเศสในช่วงเดือนมกราคม 2565
อนึ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเห็นพ้องที่จะดำเนินโครงการดังกล่าวให้มีความต่อเนื่องและพร้อมที่จะสนับสนุนความร่วมมือกับฝ่ายฝรั่งเศสอย่างเต็มที่
3) ด้านการพัฒนาทักษะภาษาฝรั่งเศสและเทคนิคการสอนสำหรับครูสอนภาษาฝรั่งเศส เอกอัครราชทูตฯ กล่าวถึงความร่วมมือในการจัดโครงการอบรมครูสอนภาษาฝรั่งเศสในระหว่าง ปี 2556 – 2560 ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้จัดส่งครูไทยไปฝึกอบรมภาษาฝรั่งเศสที่สาธารณรัฐฝรั่งเศสประมาณ 15 คนต่อปี รวมระยะเวลา 4 ปี มีครูไทยเดินทางไปฝึกอบรมที่สาธารณรัฐฝรั่งเศสทั้งสิ้น 57 คน ดังนั้น จึงประสงค์ที่จะฟื้นฟูโครงการดังกล่าวอีกครั้ง โดยอาจพิจารณาจัดส่งครูไทยไปฝึกอบรมที่สาธารณรัฐฝรั่งเศสทุก 2 ปี และอาจรวมถึงครูจากสถาบันอาชีวศึกษาด้วย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นประโยชน์กับครูไทยอย่างยิ่ง จึงเห็นด้วยกับการฟื้นฟูโครงการฯ อีกครั้ง และเสนอให้มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในรายละเอียด เช่น ช่วงเวลาการดำเนินการ (Timeline) และคุณสมบัติของครู อย่างไรก็ตาม มีความเห็นว่าการดำเนินโครงการฯ จะต้องพิจารณาสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ในเวลานั้นด้วย
โอกาสนี้ เอกอัครราชทูตฯ ได้กล่าวขอบคุณกระทรวงศึกษาธิการที่สนับสนุนให้มีการเปิดเรียนในโรงเรียนได้ตามปกติซึ่งทำให้โรงเรียนฝรั่งเศสนานาชาติในไทยสามารถเปิดการเรียนการสอนในขณะนี้ได้ด้วย รวมทั้งการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้กับนักเรียน นักศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวว่า โรงเรียนต่าง ๆ เริ่มเปิดภาคเรียนที่ 2 ในรูปแบบปกติ (On-site) เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 กระทรวงศึกษาธิการได้ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขในการกำหนดมาตรการ และการประเมินโรงเรียนก่อนอนุญาตให้เปิดสอนแบบ On-site อีกทั้งครูและบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 ต้องได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 เมื่อโรงเรียนผ่านเกณฑ์การประเมินข้างต้นแล้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดจะประเมินความพร้อมของโรงเรียนอีกครั้งก่อนอนุญาตให้เปิดการเรียนการสอนได้ ขณะนี้มีโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกว่าร้อยละ 40 จากจำนวนโรงเรียนทั้งสิ้น 30,000 กว่าแห่งที่เปิดการเรียนการสอนแบบ On-site แล้ว ที่ผ่านมาพบเด็กติดเชื้อในโรงเรียนบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการติดมาจากผู้ปกครองหรือคนที่บ้าน นอกจากนี้ โรงเรียนยังมีแผนเผชิญเหตุเพื่อรองรับสถานการณ์กรณีที่พบผู้ติดเชื้อในโรงเรียน ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและสนับสนุนให้นักเรียนได้รับการพัฒนาและการเรียนรู้ตามวัย
สรุปและเรียบเรียง : กุณฑิกา พัชรชานนท์
จิตรลดา จันทร์แหยม
ข้อมูล : กลุ่มความร่วมมือทวิภาคี
เครดิตภาพ : สำนักงานรัฐมนตรี
รายงานโดย : กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
30 พฤศจิกายน 2564