ข่าวความเคลื่อนไหว
การประชุมรัฐมนตรีศึกษาเอเชีย - ยุโรป ครั้งที่ 8 (ASEM Education Ministers’ Meeting: ASEMME8)
นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานการประชุมรัฐมนตรีศึกษาของ อาเซมครั้งที่ 8 (ASEM Education Ministers’ Meeting: ASEMME8) เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2564 ณ กรุงเทพฯ ประเทศไทย ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีหารือและแลกเปลี่ยนนโยบายด้านการศึกษาของภูมิภาคเอเชียและยุโรป ภายใต้หัวข้อ “ASEM Education 2030 : Towards more resilient, prosperous and sustainable futures” การประชุมจัดขึ้นแบบออนไลน์ โดยมีรัฐมนตรีด้านการศึกษาจากประเทศสมาชิกเอเชียและยุโรป องค์การระหว่างประเทศ และเครือข่ายด้านการศึกษาของอาเซมเข้าร่วมการประชุม ประมาณ 120 คน
นางสาวตรีนุช เทียนทอง ได้กล่าวทั้งในพิธีเปิดและปิดการประชุม โดยย้ำความสำคัญของการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาของอาเซมครั้งนี้ว่า เป็นเวทีที่จะกำหนดแนวทางการศึกษาของทั้งสองภูมิภาค โดยมีกรอบยุทธศาสตร์ด้านการศึกษา และแผนปฏิบัติการด้านการศึกษาของอาเซมปี 2030 เป็นแนวทางการดำเนินงาน เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม ตามเจตนารมณ์ของการการประชุมเอเชีย-ยุโรป ที่ได้เริ่มต้นขึ้นเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยในปี 2539 (1996) รวมถึงขอบข่ายการดำเนินงานหลักที่สำคัญด้านการศึกษาของอาเซม 4 ข้อ ได้แก่ การประกันคุณภาพและการรับรองคุณวุฒิทางการศึกษา (Quality Assurance and Recognition) การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมในการศึกษา (Engaging Business and Industry in Education) การเคลื่อนที่อย่างสมดุล(Balanced Mobility) และการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการศึกษาด้านเทคนิคและอาชีวศึกษา (Lifelong Learning and Technical and Vocational Education and Training)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการยังได้กล่าวถึงการแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่ส่งผลกระทบต่อการศึกษา อันเป็นกลไกสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน สำหรับประเทศไทย การแพร่ระบาดของโควิดทำให้มีการพัฒนาเนื้อหาการเรียนรู้แบบดิจิทัลเพื่อเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา การดำเนินการตามมาตรการด้านสาธารณสุขและความปลอดภัยในโรงเรียนเพื่อรองรับการเปิดภาคเรียน ทั้งยังจัดให้นักเรียน ครู และบุคลากรการศึกษาได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อคุ้มกันโควิด 19 ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง และลดอัตราเด็กออกจากโรงเรียนกลางคัน นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้ให้ความสำคัญในการเสริมสร้างทักษะของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 และการเรียนรู้ตลอดชีวิต รวมถึงการส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่างนักเรียนของทวีปเอเชียและยุโรป เช่น การจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนของเยาวชนในยุคโลกปรับเปลี่ยน “Youth Learners’ Mobility in an Agile World” an SDG 14 “Life Below Water” เมื่อเดือนกันยายน 2564 การสนับสนุนแนวทางนโยบายแก่สถาบันอุดมศึกษาทั้งของภาครัฐและเอกชน สนับสนุนกิจกรรม เพื่อสร้างสรรค์ความรู้ และดำเนินโครงการระดับนานาชาติร่วมกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงการจัดทำข้อตกลงระหว่างสถาบันการอุดมศึกษา โครงการปริญญาร่วม (dual-degree programmes) การทำวิจัยร่วม การแลกเปลี่ยนข้ามวัฒนธรรม การเคลื่อนย้ายนักเรียน นักศึกษา คณาจารย์ เป็นต้น
การประชุมสำเร็จด้วยดี โดยที่ประชุมได้รับรองยุทธศาสตร์ และแผนปฏิบัติการด้านการศึกษาของอาเซม 2030 รวมถึงการรับรองถ้อยแถลงของประธาน (Chair’s Conclusions) ซึ่งเน้นย้ำความร่วมมือของประเทศสมาชิกอาเซมและเครือข่ายด้านการศึกษาของอาเซมในการดำเนินตามยุทธศาสตร์ด้านการศึกษา การส่งเสริมข้อริเริ่มกิจกรรมและโครงการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ การดำเนินการของเครือข่ายด้านการศึกษาของอาเซม ประเทศไทยโดยกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีความพร้อมและความเชื่อมั่นที่จะดำเนินการตามยุทธศาสตร์ และให้การสนับสนุนความร่วมมือด้านการศึกษาของอาเซมต่อไป
สรุปและเรียบเรียง : หงษ์ฟ้า วีระนพรัตน์
รัชนินท์ พงศ์อุดม
สุปราณี คำยวง
กลุ่มความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ
รายงานโดย : กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
16 ธันวาคม 2564