Loading color scheme

การประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การยูเนสโก ครั้งที่ 214

214th unesco 5 4 2565

          นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เป็นหัวหน้าคณะ ผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การยูเนสโก ครั้งที่ 214 (The 214th Session of the Executive Board) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 มีนาคม - 13 เมษายน 2565 ณ องค์การยูเนสโก สำนักงานใหญ่ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยมี ดร. สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ดร. วีระ แข็งกสิการ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และนางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ด้วย

214th unesco1 5 4 2565

          พิธีเปิดการประชุมเต็มคณะเริ่มต้นในวันที่ 4 เมษายน 2565 เวลา 10.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นกรุงปารีส ณ ห้องประชุม 1 โดยประธานกรรมการบริหาร คือ Ms. Tamara Rastovac Siamashvili ชาวเซอร์เบีย ได้กล่าวต้อนรับประเทศสมาชิกกรรมการบริหารฯ ทั้ง 58 ประเทศและเปิดการประชุม โดยทำหน้าที่ตามขั้นตอนของการประชุม จากนั้น ผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโก (Ms. Audrey Azoulay) ได้กล่าวรายงานมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารฯ ครั้งที่ 212 - 213 รวมถึงโปรแกรม/โครงการที่ได้รับการรับรองจากที่ประชุมสมัยสามัญของยูเนสโก ครั้งที่ 41 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 โดยเฉพาะแผนยุทธศาสตร์ระยะกลาง โครงการและงบประมาณฉบับใหม่ของยูเนสโก นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงวิกฤตสถานการณ์ในยูเครนที่ส่งผลให้ยูเนสโกจำเป็นต้องดำเนินบทบาททั้ง 5 สาขา (การศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ และสื่อสารมวลชน) ตลอดจนระดมทรัพยากรในการฟื้นฟูยูเครนให้เข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว

          การดำเนินงานของยูเนสโกตามโครงการและงบประมาณประจำปี ค.ศ. 2022 - 2023 ยังคงให้ความสำคัญกับการพัฒนาแอฟริกา และความเสมอภาคระหว่างเพศ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม และการสร้างสันติภาพโดยใช้การศึกษาเป็นกลไกสำคัญ การศึกษาของผู้หญิงและผู้เด็กหญิง โดยเฉพาะประเทศที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบ เช่น สถานการณ์ในอาฟกานิสถานที่สถานศึกษาถูกทำลาย ส่งผลกระทบให้ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงไม่ได้รับการศึกษา (girls and women)

214th unesco2 5 4 2565

          ในฐานะที่ยูเนสโกเป็นองค์การหลักในการขับเคลื่อนหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ เป้าหมายที่ 4 (SDG 4) ในปีนี้ ยูเนสโกมีความมุ่งมั่นที่จะผลักดันการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว โดยจะมีการประชุมสำคัญต่างๆ เช่น การประชุมด้านการศึกษาปฐมวัย (World Conference on Early Childhood Care and Education : Early investment for better future and brighter future) ในเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่อุสเบกิสถาน การประชุมการอุดมศึกษาในระดับโลก (UNESCO World Higher Education Conference) ช่วงเดือนพฤษภาคม 2565 ที่สเปน และการประชุมนานาชาติด้านการศึกษาผู้ใหญ่ (International Conference on Adult Education : CONFINTEA) ที่โมรอกโก เป็นต้น นอกจากนี้ ยูเนสโกยังให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโดยจะดำเนินการตามคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change : IPCC) ตลอดจนการให้ความสำคัญกับการพัฒนาดิจิทัลทางการศึกษา โดยส่งเสริมการพัฒนาสื่อการเรียนออนไลน์ รวมทั้งโปรแกรมสำคัญต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับการเรียนการสอนในสถานการณ์ปัจจุบัน

          ภายหลังการรายงานของผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโก หัวหน้าคณะผู้แทนประเทศสมาชิกกรรมการบริหารฯ ได้กล่าวถ้อยแถลงประเทศละไม่เกิน 6 นาที เพื่อแสดงวิสัยทัศน์ ข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาและดำเนินการภายใต้กรอบยูเนสโก โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมีกำหนดกล่าวถ้อยแถลงช่วงเช้าของวันที่ 5 เมษายน 2565

214th unesco3 5 4 2565

          อนึ่ง ประเทศไทยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะกรรมการบริหารฯ จากที่ประชุมสมัยสามัญของยูเนสโก ครั้งที่ 40 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 วาระ 4 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2562 - 2566 โดยได้รับเลือกให้เป็นกรรมการด้านอนุสัญญาและข้อเสนอแนะ (Committee on Conventions and Recommendations) ระหว่างปี 2562 – 2564 ซึ่งพิจารณาเกี่ยวกับการติดตามผลการดำเนินการตามอนุสัญญา/ข้อเสนอแนะของยูเนสโกต่างๆ และกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเป็นกรรมการพิเศษ (Special  Committee) ระหว่างปี 2565 - 2566 ซึ่งมีหน้าที่ในการพิจารณาวิธีการและกระบวนการประเมินผลกิจกรรมของยูเนสโกร่วมกับหน่วยงานร่วมด้านการตรวจสอบของสหประชาชาติ

สรุป / เรียบเรียง : รัชนินท์  พงศ์อุดม
สุปราณี  คำยวง
กลุ่มความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ
รายงานโดย : กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
5 เมษายน 2565