ข่าวความเคลื่อนไหว
กระทรวงศึกษาธิการ และ UNICEF หารือต่อยอดความร่วมมือด้านการศึกษา
เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 10.30 น. ณ ห้องดำรงราชานุภาพ อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้การต้อนรับนางคยองซอน คิม ผู้แทนองค์การยูนิเซฟประจำประเทศไทย และคณะ ซึ่งประกอบด้วยนางเซอร์เวอรีน ลีโอนาดี รองผู้แทนองค์การยูนิเซฟประจำประเทศไทย ดร.รังสรรค์ วิบูลย์อุปถัมภ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา และนางนภัทร พิศาลบุตร ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยมีผู้แทนจากกระทรวงศึกษาธิการเข้าร่วม ได้แก่ นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา นายประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสภาการศึกษา นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นางพิมพ์วรัชญ์ เมืองนิล คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และผู้แทนสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
การหารือครั้งนี้เน้นไปที่การต่อยอดความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างยูนิเซฟและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านการศึกษาในประเทศไทย โดยเฉพาะการส่งเสริมวาระแห่งชาติด้านการศึกษาปฐมวัย เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระดับประถมศึกษา โดยการร่วมมือกับหน่วยงานในระดับจังหวัด รวมถึงการเสนอให้การสนับสนุนในกระบวนการเข้าเป็นสมาชิกขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวขอบคุณองค์การยูนิเซฟที่ให้การสนับสนุนด้านการศึกษาในประเทศไทย ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” พร้อมย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาสื่อการเรียนการสอน และการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้ครอบคลุมและเท่าเทียม โดยเฉพาะการจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนโครงการร่วมกัน เช่น การผลิตสื่อการเรียนรู้ที่สามารถนำไปใช้ได้ทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมา กัมพูชา และลาว อีกทั้งยังได้กล่าวถึงโครงการ "หนึ่งอำเภอ หนึ่งโรงเรียนคุณภาพ" ซึ่งเป็นแนวทางในการพัฒนาโรงเรียนต้นแบบที่สามารถขยายผลไปยังโรงเรียนอื่น ๆ ในพื้นที่ใกล้เคียง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการยังได้กล่าวถึงการเข้าเป็นสมาชิก OECD ที่กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการอยู่ เช่น โครงการประเมินสมรรถนะนักเรียนระดับนานาชาติ (PISA) โดยปีหน้าจะมีการสอบด้านทักษะคอมพิวเตอร์ หากได้รับการสนับสนุนด้านทรัพยากร เช่น คอมพิวเตอร์ จะสามารถนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนได้อย่างดี ในด้านการศึกษาปฐมวัย กระทรวงศึกษาธิการโดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย และได้มีการขับเคลื่อนในระดับจังหวัดโดยร่วมมือกับศึกษาธิการจังหวัด นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ดำเนินโครงการ ”พาน้องกลับมา และพาการศึกษาไปหาน้อง (Zero Dropout)” โดยร่วมมือกับทุกองค์กรในกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการและศึกษาธิการจังหวัด
ผู้แทนองค์การยูนิเซฟประจำประเทศไทยได้แสดงความชื่นชมกระทรวงศึกษาธิการที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กตั้งแต่ระดับปฐมวัย รวมถึงการพัฒนาหลักสูตรและบุคลากรทางการศึกษา โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล นอกจากนี้ ยูนิเซฟยังได้กล่าวถึงการจัดงานวันส่งเสริมอินเทอร์เน็ตปลอดภัย ซึ่งได้เชิญทุกภาคส่วนรวมถึงกระทรวงศึกษาธิการเข้าร่วม ซึ่งเป็นเวทีในการสร้างความตระหนักรู้และส่งเสริมการใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยและมีความรับผิดชอบ
รองผู้แทนองค์การยูนิเซฟประจำประเทศไทยได้กล่าวถึงการส่งเสริมแนวคิด "การศึกษาด้านสภาพอากาศอย่างชาญฉลาด (Climate Smart Education)" ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาการศึกษาที่คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยความร่วมมือระหว่างยูนิเซฟ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นอกจากนี้ยังได้หารือถึงแนวทางการสนับสนุนด้านแหล่งทุนเพื่อช่วยเหลือโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล และการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับประเด็นสำคัญของสังคมไทย เช่น การเข้าสู่สังคมสูงวัย และอัตราการเกิดที่ลดลง รวมถึง โครงการร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในด้านการอ่าน คือ โครงการ “เด็กทุกคนอ่านได้” (Every Child Can Read)
ท้ายที่สุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ยืนยันถึงความมุ่งมั่นของกระทรวงในการสนับสนุนการศึกษาให้ครอบคลุมทั้งเด็กไทยและเด็กต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทย โดยให้ทุกคนได้รับสิทธิทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน พร้อมแสดงความเชื่อมั่นว่าความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการและองค์การยูนิเซฟจะช่วยขับเคลื่อนการศึกษาไทยให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ
สรุป/เรียบเรียง: ศิริพร วิริยะอัครเดชา
ปานเทพ ลาภเกษร
กลุ่มความร่วมมือพหุภาคี
รายงานโดย : กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
11 กุมภาพันธ์ 2568