Loading color scheme

การประชุมสัมมนาออนไลน์ ภายใต้โครงการ Global Citizenship in the New Normal for ASPnet

Global Citizenship in the New Normal for ASPnet 21 3 2565

          เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2565 เวลา 9.00 น. ดร. วีระ  แข็งกสิการ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาออนไลน์ โครงการ Global Citizenship in the New Normal for ASPnet ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากยูเนสโกภายใต้ Participation Programme 2020 – 2021 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้ และส่งเสริมความเข้าใจเรื่องพลเมืองโลกศึกษา (Global Citizenship Education - GCED) แก่ครูหรือผู้ประสานงานเครือข่ายสถานศึกษาเพื่อความเข้าใจอันดีระหว่างชาติของยูเนสโก (UNESCO Associated Schools Project Network - ASPnet) ของประเทศไทย เพื่อให้สามารถนำแนวคิดเรื่องพลเมืองโลกศึกษามาปรับใช้ในการเรียนการสอนในการรับมือกับปัญหาท้าทายในปัจจุบัน รวมถึงการส่งเสริมความเข้มแข็งของเครือข่ายโรงเรียน ASPnet ในประเทศไทยให้มีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่และต่อยอดแนวคิด/หัวข้อส่งเสริมต่าง ๆ ของยูเนสโก

Global Citizenship in the New Normal for ASPnet3 21 3 2565

          ดร. วีระ  แข็งกสิการ ได้กล่าวในพิธีเปิดการประชุมรูปแบบการบันทึกวีดิทัศน์เกี่ยวกับความสำคัญของพลเมืองโลกศึกษาว่า เป็นองค์ความรู้ที่จะช่วยให้ผู้เรียนมีทักษะที่จะรับมือกับอุปสรรคปัญหาท้าทายต่างๆ ที่ไม่ใช่แค่เพียงในระดับท้องถิ่น แต่มีความเข้าใจและรู้ทันต่อปัญหาและผลกระทบในระดับโลก  พลเมืองโลกศึกษาถือเป็นยุทธศาสตร์ด้านการศึกษาที่สำคัญของยูเนสโก เป็นกลไกในการสร้างสันติภาพและส่งเสริมเรื่องสิทธิมนุษยชนศึกษา ปลูกฝังค่านิยม ทัศนคติ และอุปนิสัยที่ดีงาม เพื่อให้เกิดความรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะที่เป็นพลเมืองโลก โดยเน้นเรื่องกิจกรรมสร้างสรรค์ การสร้างนวัตกรรม และความรับผิดชอบต่อสังคมในการสร้างสันติภาพ สิทธิมนุษยชน และการพัฒนาที่ยั่งยืน อีกทั้งองค์การยูเนสโกได้จัดตั้งเครือข่าย ASPnet เพื่อเป็นแหล่งในการปลูกฝังค่านิยม แนวคิด และองค์ความรู้ต่างๆ ของยูเนสโก ทั้งนี้ ครูและนักเรียนสามารถส่งเสริม สนับสนุน และประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้ทางปัญญาไปยังครอบครัว ชุมชน ประเทศ และโลกได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทของชุมชน โดยปัจจุบันมีสถานศึกษากว่าหมื่นแห่งในประเทศสมาชิกยูเนสโกที่ร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายดังกล่าว ในประเทศไทยมีโรงเรียนที่อยู่ในเครือข่าย ASPnet กว่าร้อยแห่ง หลายโรงเรียนมีประสบการณ์ในการร่วมกิจกรรม ดำเนินโครงการ และเข้าร่วมการประชุมภายใต้กรอบงานยูเนสโก ดังนั้น จึงเป็นโอกาสอันดีที่การประชุมครั้งนี้ โรงเรียนทั้งที่เป็นและไม่เป็น ASPnets จะได้มีโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ร่วมกันในเรื่องพลเมืองโลกศึกษา

Global Citizenship in the New Normal for ASPnet1 21 3 2565

          กิจกรรมในระหว่างการประชุมสัมมนาออนไลน์ในโครงการดังกล่าว สามารถชมผ่าน Facebook ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะศูนย์ความร่วมมือด้านพลเมืองโลกศึกษา ประเทศไทย Click..

          โครงการได้รับการสนับสนุนทางวิชาการเป็นอย่างดีจากศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะศูนย์ความร่วมมือด้านพลเมืองโลกศึกษา ประเทศไทย เพื่อบรรยายและแลกเปลี่ยนความรู้อย่างเข้มข้น ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติฯ จะจัดกิจกรรมต่อเนื่องภายใต้โครงการดังกล่าว ซึ่งจะเป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการในวันที่ 28 – 29 มีนาคม 2565 ณ กรุงเทพมหานคร เพื่อต่อยอดความรู้เรื่องพลเมืองโลกศึกษาให้แก่สถานศึกษาในเครือข่าย ASPnet ในลำดับต่อไป

สรุป / เรียบเรียง : รัชนินท์  พงศ์อุดม
ภัสศรี  ศิริประภา
กลุ่มความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ
ขอขอบคุณ : Fb ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในฐานะศูนย์ความร่วมมือด้านพลเมืองโลกศึกษา ประเทศไทย
รายงานโดย : กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
21 มีนาคม 2565