Loading color scheme

กระทรวงศึกษาธิการร่วมส่งเสริมปัญญาประดิษฐ์ในการศึกษา

Education World 22 5 2567

          พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบหมายนายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมการประชุมระดับโลกด้านการศึกษา หรือ Education World Forum 2024 (EWF204) ระหว่างวันที่ 19-22 พฤษภาคม 2567 ณ Queen Elizabeth II Centre กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร EWF เป็นเวทีผู้นำด้านการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วโลกได้ร่วมกันอภิปรายและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านการศึกษา การพัฒนาทักษะผู้เรียนให้มีศักยภาพและความพร้อมสำหรับอุตสาหกรรมในอนาคต การประชุมจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยหัวข้อหลักของการประชุมปีนี้ คือ Encouraging AI understanding, Building human relationships and resilience, and accelerating Climate action. How should we prioritise policy and implementation for Stronger, Bolder, Better, Education? เน้นบทบาทของปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI และการสร้างความสมดุลระหว่างเทคโนโลยีด้านดิจิทัลกับทักษะทางสังคม ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีทักษะความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม (Green Skills) ซึ่งจำเป็นสำหรับการจ้างงานอุตสาหกรรมในอนาคต ให้ความสำคัญกับการกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติที่สร้างความเข้มแข็งด้านการศึกษาเพื่อช่วยสร้างโลกให้น่าอยู่ขึ้น

Education World1 22 5 2567

          ที่ประชุมนำเสนอและอภิปรายหัวข้อด้านการศึกษา โดยเฉพาะการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการเรียนการสอน การปรับเปลี่ยนรูปแบบและพัฒนาทักษะครูและนักเรียนให้มีความพร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ และปัญหาท้าทายดังเช่นการแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่ผ่านมา การสร้างสมดุลระหว่างการศึกษาและประเด็นระดับโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทักษะทางสังคม และ green education ครอบคลุมการศึกษาทุกระดับตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา โดยมีรัฐมนตรีศึกษา ผู้บริหารระดับสูงจากประเทศทั่วโลก นักวิชาการ และผู้บริหารจากองค์กรด้านการศึกษาระดับนานาชาติ บริษัทเทคโนโลยีด้านการศึกษาชั้นนำร่วมอภิปราย นอกจากนี้ ที่ประชุมยังจัดบูทนิทรรศการเทคโนโลยีด้านการศึกษาและกิจกรรมคู่ขนาน การนำเสนอและอภิปรายกลุ่มย่อยเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการปรับตัวและการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการศึกษา ซึ่งรวมถึงการอภิปราย หัวข้อ AI Practical Applications in Education and Best Practices around the World” และการประชุมกลุ่มย่อยระดับเอเชียแปซิฟิกเกี่ยวกับความท้าทายด้านการศึกษาของภูมิภาค

Education World2 22 5 2567

          ที่ประชุมกล่าวถึงความสำคัญและบทบาทของ AI ต่อการศึกษา ซึ่งส่งเสริมและช่วยพัฒนาการเรียนการสอนในหลายมิติ เช่น การช่วยบริหารจัดการเวลาและผ่อนแรงครูผู้สอน การใช้ฐานข้อมูลเพื่อวางแผนหรือคาดการณ์สำหรับอนาคต การทำวิจัย เป็นเครื่องมือให้เข้าถึงการศึกษา และการต่อยอดด้านการศึกษาและการริเริ่มสร้างสรรค์ เป็นต้น ปัจจุบันองค์การด้านการศึกษาและบริษัทด้านเทคโนโลยีการศึกษาได้พัฒนาหลักสูตร คู่มือ ชุดการเรียนการสอน และ applications ด้านการศึกษาหลากหลาย เพื่อให้ครูและผู้เรียนได้เข้าถึงและปรับใช้ตามความเหมาะสม แต่ทั้งนี้ ยังมีข้อกังวลทั้งในเรื่องความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยี ความแตกต่างในบริบทของแต่ละประเทศ อุปสรรคด้านภาษา ความกลัวเทคโนโลยี ความไม่พร้อมของครู และความปลอดภัย ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างความเข้าใจให้กับครูและผู้ปกครองให้มีความรู้เรื่องปัญญาประดิษฐ์ ถึงประโยชน์และการนำไปใช้ให้มากขึ้น ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการนั้น ตระหนักถึงการปรับตัวด้านเทคโนโลยีในการศึกษา โดยนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการส่งเสริมการพัฒนา platform ที่ผู้เรียนสามารถเข้าถึงความรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) สามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ทั้งในและนอกห้องเรียน การพัฒนาด้านดิจิทัลทั้งระดับการเรียนการสอนและการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ในโอกาสนี้ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้มีโอกาสพูดคุยหารือกับผู้บริหารบริษัทชั้นนำระดับโลกด้านเทคโนโลยีการศึกษาเพื่อส่งเสริมนโยบายด้าน Digital Learning ของกระทรวงศึกษาต่อไป

Education World3 22 5 2567

Education World4 22 5 2567

Education World5 22 5 2567

Education World6 22 5 2567

ข้อมูล : รัชนินท์ พงศ์อุดม
ภัสศรี ศิริประภา
กลุ่มงานความร่วมมือทวิภาคี
รายงานโดย : กลุ่มงานยุทธศาสตร์และสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
22 พฤษภาคม 2567