Loading color scheme

ศธ. ไทย จับมือกลุ่มประเทศสมาชิกซีมีโอ ร่วมขับเคลื่อนนโยบายด้านการศึกษาปฐมวัยมุ่งสู่การปฏิบัติอันเป็นเลิศ

ECCE 29 5 2567

          เมื่อวันที่ 22 – 23 พฤษภาคม 2567 นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ ที่ปรึกษาพิเศษด้านความร่วมมือต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยผู้แทนสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป. เข้าร่วมการประชุม Early Childhood Care and Education (ECCE) Policy Dialogue ณ เมือง Taquig กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ โดยเป็นการประชุมหารือร่วมกันระหว่างผู้แทนระดับสูงและเจ้าหน้าที่ผู้กำหนดนโยบายด้านการดูแลและการจัดการศึกษาในระดับปฐมวัยจากประเทศสมาชิกซีมีโอ ซึ่งจัดโดยกระทรวงศึกษาธิการ (Department of Education : DepEd) สาธารณรัฐฟิลิปปินส์

ECCE1 29 5 2567

          การประชุม ECCE Policy Dialogue จัดขึ้นตามโครงการ 7-7-7 Flagship program ซึ่งได้ริเริ่มเป็นโครงการแรกภายใต้สภารัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO) ของฟิลิปปินส์ ได้กำหนดการดำเนินโครงการทั้ง 7 โครงการ เพื่อตอบสนองต่อประเด็นสำคัญด้านการศึกษา 7 ประเด็น ในแผนยุทธศาสตร์ SEAMEO Strategic Plan 2021-2030 โดยโครงการแรก มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านการศึกษาและการดูแลเด็กปฐมวัย การประชุม ECCE Policy Dialogue จัดขึ้นภายใต้แนวคิด การขับเคลื่อนนโยบายด้านการศึกษาปฐมวัยมุ่งสู่การปฏิบัติอันเป็นเลิศ From Policy to Action: Global Trends and Best Practices on ECCE ที่เป็นเวทีหารือสำหรับผู้แทนจากประเทศสมาชิก SEAMEO เพื่อแบ่งปันความรู้ ทักษะ และแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดสำหรับการศึกษาที่เข้าถึงได้และมีคุณภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ECCE3 29 5 2567

ECCE2 29 5 2567

          ผู้เข้าร่วมการประชุมหารือประกอบด้วยเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษาจากประเทศสมาชิก SEAMEO ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา อินโดนีเซีย สปป. ลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย ติมอร์เลสเต และเวียดนาม ภาคีเครือข่ายจากศูนย์ SEAMEO ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาปฐมวัยจากองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ อาทิ ECCE Global Lead จาก UNICEF, ผู้อำนวยการศูนย์ SEAMEO CECCEP และผู้บริหารสถานศึกษาต่างๆ เป็นต้น

ECCE4 29 5 2567

          โดยผู้แทนไทยได้นำเสนอนโยบายการดำเนินการด้านการศึกษาปฐมวัยของกระทรวงศึกษาธิการ ประกอบด้วย แผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2564 – 2570 พระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย มาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ และนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงศึกษาธิการ “3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม” ดังนี้ 3 เร่ง คือ เร่งความเข้าใจแก่ผู้ปกครอง ครู ผู้ดูแลเด็ก ชุมชน และสังคม เร่งสวัสดิการการเลี้ยงดูเด็กเล็กถ้วนหน้า และเร่งเสริมศักยภาพองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน และ กลไกระดับพื้นที่ใกล้ตัวเด็ก 3 ลด คือ ลดการใช้สื่อหน้าจอในเด็กปฐมวัยก่อนวัย 2 ขวบ ลดความเครียด คืนความสุขแก่เด็กปฐมวัย และลดการใช้ความรุนแรงต่อเด็กปฐมวัยทั้งทางร่างกาย และจิตใจ และ 3 เพิ่ม คือ เพิ่มกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ผ่านการเล่นหลากหลาย อาทิ ดนตรี กีฬา การออกกำลังกาย เพิ่มการเล่าและอ่านนิทานสม่ำเสมอ และเพิ่มความรัก ความใส่ใจ และส่งเสริมเวลาคุณภาพของครอบครัว เพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยในสภาวะวิกฤตต่าง ๆ เพื่อให้เด็กทุกคน เรียนดี มีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี และเติบโตขึ้นเป็นอนาคตของชาติที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต

ECCE5 29 5 2567

          ในระหว่างการดำเนินโครงการจำนวน 2 วัน นอกจากผู้แทนจากกระทรวงศึกษาธิการไทยได้เข้าร่วมประชุมหารือแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการด้านปฐมวัยในระดับภูมิภาคแล้ว ยังได้เยี่ยมชมศูนย์พัฒนาเด็กแห่งชาติฟิลิปปินส์ (The National Child Development Center : NCDC) ณ เมือง Muntinlupa ภายใต้การดำเนินการโดยหน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งเป็นการลงพื้นที่จริงเพื่อสังเกตการณ์การจัดการเรียนรู้และการดูแลนักเรียนปฐมวัย นอกจากนี้ ทางที่ประชุมได้ขอความอนุเคราะห์ประเทศสมาชิก SEAMEO รวมถึงประเทศไทยดำเนินการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมด้านการดูแลและการจัดการศึกษาในระดับปฐมวัยผ่านระบบออนไลน์ เพื่อเป็นการต่อยอดจากการประชุมหารือครั้งนี้ต่อไปด้วย

ECCE6 29 5 2567

          อนึ่ง การประชุม ECCE Policy Dialogue มีผลสืบเนื่องจาก การประชุมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมการเข้าถึงการพัฒนาและการดูแลเด็กปฐมวัยอย่างเท่าเทียมในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Ministerial Meeting on Ensuring Equal Access to Quality Early Childhood Development and Care) เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สปป. ลาว โดย พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เดินทางเข้าร่วมประชุมและที่ประชุมได้ร่วมกันรับรองในหลักการต่อแถลงการณ์เวียงจันทน์ว่าด้วยความเสมอภาค การเข้าถึง และสิ่งแวดล้อม: การพัฒนาความสามารถในการปรับตัวรับกับสภาพภูมิอากาศของเด็กปฐมวัยในอาเซียน (Vientiane Statement on Equity, Access and Environment: Advancing Climate Resilience in Early Childhood Settings in ASEAN) ซึ่งสนับสนุนและให้ความสำคัญกับนโยบายเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเด็กปฐมวัยให้มีความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศ รวมถึงความร่วมมือการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน Sustainable Development Goals: SDG 2030

ECCE7 29 5 2567

สรุป/เรียบเรียง: พิชญสุดา พลเสน
กุสุมา นวพันธ์พิมล
กลุ่มความร่วมมือระดับภูมิภาค
รายงานโดย : กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
28 พฤษภาคม 2567