Loading color scheme

รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการเข้าร่วมการประชุมและนิทรรศการการศึกษานานาชาติ Bett Asia 2024 กรุงกัวลาลัมเปอร์ สหพันธรัฐมาเลเซีย

Bett1 2024 7 10 2567

Bett3 2024 7 10 2567

          นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมการประชุมและนิทรรศการ Bett Asia 2024 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 – 3 ตุลาคม 2567 ณ Mandarin Oriental Hotel กรุงกัวลาลัมเปอร์ สหพันธรัฐมาเลเซีย งาน Bett Asia ครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 8 โดยมีกระทรวงศึกษาธิการมาเลเซีย และรัฐบาลสหราชอาณาจักร ภายใต้การดำเนินงานของ Hyve Group เป็นเจ้าภาพจัดงาน โดยมีหัวข้อหลัก คือ “Powering Up Education, driving positive change through AI and technical advancement” ซึ่งกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การประชุมและอภิปรายเชิงวิชาการ (The Leadership Summit) ในมิติต่าง ๆ ได้แก่ การศึกษาสายสามัญ (K12) อาชีวศึกษาและเทคนิค (TVET) และอุดมศึกษา (Higher Education) รวมทั้งการแสดงนิทรรศการ (The Expo) เกี่ยวกับเทคโนโลยีทางการศึกษาของบริษัทไอทีชั้นนำทั่วโลกกว่า 50 องค์กร โดยมีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารองค์กรชั้นนำ ผู้นำทางการศึกษา และนักการศึกษา เข้าร่วมงาน

Bett5 2024 7 10 2567

          วันที่ 1 ตุลาคม 2567 ระหว่างเวลา 14.00 – 18.00 น. รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้เข้าร่วมการประชุมโต๊ะกลมของผู้บริหารระดับสูงด้านนโยบายการศึกษา  (Ministerial and Policy Leaders' Roundtable) โดยมีผู้บริหารระดับสูงจากกระทรวงศึกษาธิการ ผู้แทนองค์การระดับภูมิภาค ผู้แทนองค์การระหว่างประเทศ นักวิชาการชั้นนำจากภาคีมหาวิทยาลัย และผู้บริหารองค์กรเอกชนด้านการศึกษา เข้าร่วมการประชุม มีจุดมุ่งหมายเพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิดและประสบการณ์ในการพลิกโฉมการศึกษาโดยอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัล การดำเนินงานด้านดิจิทัลของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นโยบายด้านเทคโนโลยีการศึกษา (EdTech) ในโอกาสนี้ รองปลัด ศธ. ได้แลกเปลี่ยนการดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการด้านการศึกษาดิจิทัล และนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำแพลตฟอร์มสารสนเทศเพื่อการศึกษา (Digital Platform) ควบคู่กับการพัฒนาหลักสูตรออนไลน์เพื่อเพิ่มพูนความรู้และทักษะ พร้อมทั้งได้ใบประกาศนียบัตร เพื่อให้สามารถเข้าถึงการศึกษาได้ทุกที่ทุกเวลา (Anywhere, Anytime) การวางโครงสร้างพื้นฐาน การจัดสรรอุปกรณ์ไอที และการวางระบบอินเตอร์เน็ต เพื่อรองรับการศึกษาในยุคดิจิทัล ภายใต้ความร่วมมือกับหน่วยงานเครือข่ายต่าง ๆ

          นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมการประชุมฯ ได้ร่วมอภิปรายเชิงลึกเกี่ยวกับ 6 องค์ประกอบสำคัญ (The six pillars) ของกรอบความร่วมมือการพลิกโฉมสู่ดิจิทัล (Digital Transformation Collaborative: DTC) ซึ่งจัดทำโดยกลุ่มพันธมิตรการศึกษานานาชาติของยูเนสโก (UNESCO’s Global Education Coalition) เพื่อบรรลุการพลิกโฉมการศึกษาสู่ดิจิทัลอย่างเป็นระบบและความยั่งยืนด้านการศึกษา

Bett2 2024 7 10 2567

          วันที่ 2 ตุลาคม 2567 เวลา 10.30 น. รองปลัด ศธ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป. ได้หารือทวิภาคี (Bilateral Meeting) กับคณะผู้แทนรัฐบาลสหราชอาณาจักร โดยมี นาย Richard Leach เจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านการศึกษาในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก และอเมริกา (Education Lead for Asia Pacific and the Americans) เป็นหัวหน้าคณะ ในโอกาสดังกล่าว รองปลัด ศธ. ได้นำเสนอภาพรวมนโยบาย “Happy Learning”ของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษาธิการ ทั้งในส่วนของแผนงานระยะสั้นและแผนงานระยะยาว แลกเปลี่ยนโอกาสในการริเริ่มและสานต่อความร่วมมือทางการศึกษาระหว่างประเทศไทยและสหราชอาณาจักร ตลอดจนสะท้อนผลการเข้าร่วมงานต่าง ๆ ที่จัดโดยรัฐบาลสหราชอาณาจักร ทั้งนี้ ฝ่ายสหราชอาณาจักรได้ขอบคุณกระทรวงศึกษาธิการ ที่ให้ความสำคัญและเข้าร่วมงานดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง และมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนความร่วมมือต่าง ๆ กับกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อส่งเสริมการจัดการศึกษาของประเทศไทยต่อไป

Bett4 2024 7 10 2567

          ในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน รองปลัด ศธ. ได้เดินทางไปเยี่ยมชมการจัดการศึกษา (Study Visit) ณ โรงเรียน SMK Aminuddin Baki Kuala Lumpur กรุงกัวลาลัมเปอร์ ซึ่งเป็นโรงเรียนชั้นนำ (Top Performer School) ที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการมาเลเซีย เปิดสอนในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 - 6 มีจำนวนนักเรียนประมาณ 1,000 คน มีความโดดเด่นในการจัดการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ สเต็มศึกษา (STEM Education) Project Based Learning (PBL) โครงงานวิทยาศาสตร์ การศึกษาแบบผสมผสาน พลศึกษา โดยเฉพาะกีฬาทางน้ำ การจัดการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก นอกจากนี้ โรงเรียนยังได้นำแพลตฟอร์มสารสนเทศทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการมาเลเซีย “DELIMA” มาใช้เต็มรูปแบบ ซึ่งสามารถช่วยอำนวยความสะดวกให้กับนักเรียน ครู ผู้บริหารโรงเรียนได้อย่างเป็นรูปธรรม และยกกระดับคุณภาพการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สรุป/เรียบเรียง : นัศรูน เปาะมะ
ภัสศรี ศิริประภา
กลุ่มความร่วมมือทวิภาคี
รายงานโดย : กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
4 ตุลาคม 2567