Loading color scheme

ร่วมกันเพื่อสันติภาพ (Together for Peace)

Together for Peace 29 9 2563

          เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2563 นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะเลขาธิการ คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เป็นประธานร่วมกับนายชิเกรุ อาโอยากิ ผู้อำนวยการสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ ในการประชุมหารือระดับภูมิภาคในรูปแบบทางไกลเกี่ยวกับบทบาทของการศึกษาในการสร้างสันติภาพและความยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (Together for Peace: Regional Dialogue on the Role of Education in Building Peaceful and Sustainable Future in Asia and the Pacific) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอรายงาน การดำเนินงานภายใต้โครงการ Together for Peace ทั้งในระดับภูมิภาคและกลุ่มคณะทำงานระดับผู้เชี่ยวชาญ การรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงการหารือเกี่ยวกับขั้นตอน ในการดำเนินงานและสร้างความเข้มแข็งในการสร้างสันติภาพผ่านกลไกด้านการศึกษาในอนาคต โดยมีผู้แทนจากสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยยูเนสโก ผู้เชี่ยวชาญ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจาก 30 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ร่วมกันแลกเปลี่ยนแนวคิด ข้อเสนอแนะอย่างหลากหลายในการดำเนินงานเรื่องดังกล่าวต่อไป

Together for Peace1 29 9 2563

           ในโอกาสนี้ เลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา ฯ สหประชาชาติ ได้กล่าวแสดงความขอบคุณสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ ที่แม้ว่าทั่วโลกกำลังเผชิญการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) แต่ก็มีความพยายามดำเนินโครงการเพื่อส่งเสริมการศึกษาให้มีบทบาทสำคัญในการสร้างสันติภาพและ ความยั่งยืนในอนาคตของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ตลอดจนการจัดการประชุมทางไกลอีกหลายเวที เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานภายใต้ 5 สาขา ของยูเนสโก (การศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ และสื่อสารมวลชน)

          นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงประเด็นการสร้างสันติภาพว่า เรื่องดังกล่าวไม่เป็นเพียงอารัมภบทในธรรมนูญ ของยูเนสโกเท่านั้น แต่ถือเป็นภารกิจหลักที่ทั่วโลกจะต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะในสังคมปัจจุบันที่ยังคง เต็มไปด้วยความรุนแรงและความขัดแย้งหลากหลายรูปแบบ แม้กระทั่งในภาวะวิกฤต เช่น การแพร่ระบาดของโควิด-19 ดังนั้น จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่ทุกคนจะหันหน้าเข้าหากัน รับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง เคารพในความหลากหลายของค่านิยม วัฒนธรรมและศาสนา ซึ่งเชื่อว่าการศึกษาคือกุญแจสำคัญในการส่งผ่านวัฒนธรรมแห่งสันติภาพสู่สำนึกของทุกคน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ และเชื่อว่าโครงการ Together for Peace ของยูเนสโกนี้ จะเป็นอีกหนึ่งเวทีสำคัญที่จะส่งเสริมความร่วมมือภายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเพื่อจะส่งเสริมบทบาทของการศึกษาในการสร้างสันติภาพและสังคมที่มีความยั่งยืน

          สำหรับประเทศไทย ได้มีการส่งเสริมการสร้างสันติภาพและสังคมที่ยั่งยืน ผ่านการขับเคลื่อนเป้าหมาย การพัฒนาที่ยั่งยืน เป้ามายที่ 4.7 (สร้างหลักประกันว่าผู้เรียนทุกคนได้รับความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมไปถึงการศึกษาสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนและการมีวิถีชีวิตที่ยั่งยืน สิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคระหว่างเพศ การส่งเสริมวัฒนธรรมและในส่วนร่วมของวัฒนธรรมต่อการพัฒนา ที่ยั่งยืน) โดยเป้าหมายดังกล่าวยังสอดคล้องกับการปฏิรูประบบการศึกษาของประเทศไทยเพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่มุ่งส่งเสริมสมรรถนะหลัก รวมไปถึงความรู้และความเข้าใจประเด็นและ ทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลก รวมทั้งค่านิยมต่างๆ ตลอดจนส่งเสริมทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ ความคิดสร้างสรรค์ ทักษะการแก้ไขปัญหาและการตัดสินใจ

          การส่งเสริมบทบาทด้านการศึกษาของยูเนสโก ยังได้ดำเนินการภายใต้โครงการอื่นๆ อาทิ การศึกษา เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Education for Sustainable Development: ESD) การเป็นพลเมืองโลก (Global Citizenship) สันติภาพศึกษาและสิทธิมนุษยชนด้านการศึกษา (Peace Education and Human Rights Education) ซึ่งโครงการเหล่านี้ได้ถูกนำไปขับเคลื่อนสู่โรงเรียนของไทยภายใต้โครงการเครือข่ายสถานศึกษาเพื่อความเข้าใจอันดีแห่งชาติของยูเนสโก (Associated Schools Project Network: ASPnet) โดยการจัดกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับสันติภาพศึกษาและสิ่งแวดล้อมศึกษา และที่เชื่อมโยงกับประเด็นปัญหาอื่นๆ เช่น ความเท่าเทียมทางเพศ การถูกรังแกในโรงเรียนและในโซเชียลมีเดีย ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทักษะความเข้าใจการใช้ดิจิทัล (Digital literacy) เป็นต้น และการดำเนินการที่สำคัญอีกประการหนึ่งสำหรับ การส่งเสริมสันติภาพในประเทศไทย คือการปลูกฝังให้นักเรียนดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่สอนให้นักเรียน มีความรู้คู่คุณธรรมและให้ความสำคัญกับสิ่งอื่นที่มีคุณค่าทางจิตวิญญาณมากมากกว่าวัตถุภายนอก

********************************************************

สรุปและเรียบเรียง : พนิดา ทวีลาภ
สุปราณี คำยวง
กลุ่มความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ

รายงานโดย กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป.
ข้อมูล ณ วันที่ 29 กันยายน 2563