Loading color scheme

สรุปผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสของซีมีโอ ครั้งที่ 42 (42nd SEAMEO High Officials Meeting: SEAMEO HOM) ระหว่างวันที่ 26 28 พฤศจิกายน 2562 โรงแรม Berkeley ประตูน้ำ กรุงเทพฯ

สรุปผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสของซีมีโอ ครั้งที่ 42
(42nd SEAMEO High Officials Meeting: SEAMEO HOM)
ระหว่างวันที่ 26 – 28 พฤศจิกายน 2562
ณ โรงแรม Berkeley ประตูน้ำ กรุงเทพฯ
------------------------------------------------------

42nd SEAMEO 6 12 2562

          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส ขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีมีโอ) ครั้งที่ 42 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 ณ โรงแรม Berkeley ประตูน้ำ กรุงเทพฯ

42nd SEAMEO1 6 12 2562

          1. พิธีเปิดการประชุม วันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 เวลา 09.00 น. โดยนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสของซีมีโอ ครั้งที่ 42 ได้กล่าวถึงนโยบายของประเทศไทยที่มุ่งพัฒนาคุณภาพการศึกษา เพื่อเสริมสร้างทักษะ และองค์ความรู้ของนักเรียนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ซึ่งรวมถึง การส่งเสริมความสามารถของนักเรียนด้านทักษะภาษาต่างประเทศที่สอดคล้องกับโลกอนาคต อันจะนำไปสู่ การพัฒนาที่ยั่งยืนท่ามกลางบริบทโลกที่มีการแข่งขันเพิ่มมากขึ้นในยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 นอกจากนี้ ได้กล่าวถึงความสำเร็จของไทยในการดำเนินแผนงานต่าง ๆ เพื่อก้าวข้ามความเหลื่อมล้ำและส่งเสริม ความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางการศึกษาทั้งในเรื่องของการจัดสรรงบประมาณทางการศึกษา อย่างเหมาะสม และการสร้างโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาให้แก่เด็ก เยาวชนผู้ด้อยโอกาส ผู้พลัดถิ่น เด็กตกหล่น กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มเปราะบาง กลุ่มบกพร่องทางร่างกาย และกลุ่มชายขอบ

          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการจัดการศึกษาทางเทคนิคและอาชีวศึกษา เพื่อพัฒนานักเรียนให้มีทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และในท้ายสุด ได้กล่าวเน้นย้ำการสนับสนุน การดำเนินความร่วมมือระหว่างสำนักงานเลขาธิการซีมีโอ และศูนย์/เครือข่ายระดับภูมิภาคของซีมีโอ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน อันจะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

          อนึ่ง ภายหลังพิธีเปิดการประชุมดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบรางวัล 2019 SEAMEO-Japan ESD Award ให้แก่สถานศึกษาที่มีผลงานโดดเด่นสอดคล้องกับหัวข้อ “Building Peace in Schools and Communities” ประกอบด้วย รางวัลชนะเลิศ จำนวน 3 รางวัล ตามลำดับ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ และรางวัลพิเศษ จำนวน 1 รางวัล ได้แก่ อินโดนีเซีย ทั้งนี้ รางวัลดังกล่าวจัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างองค์การซีมีโอ กระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของญี่ปุ่น (MEXT) และสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ เพื่อเปิดโอกาสให้แก่สถานศึกษาทั้งภาครัฐ และเอกชนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานของ 11 ประเทศสมาชิกซีมีโอ ได้เข้าร่วมเสนอข้อมูลเกี่ยวกับแผนงาน โครงการและกิจกรรมของโรงเรียนที่สอดคล้องกับเรื่องสันติศึกษา

          ในพิธีเปิดการประชุมข้างต้น Dr. Ethel Agnes Pascua-Valenzuela ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการซีมีโอเป็นผู้กล่าวต้อนรับผู้เข้าประชุม โดยกล่าวถึงความสำคัญของการประชุมครั้งนี้ ซึ่งเป็นเวทีสำหรับเจ้าหน้าที่ระดับสูงได้ร่วมกันกำหนดนโยบายเพื่อพัฒนาการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมของภูมิภาค และแนวทางในการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก ศูนย์ระดับภูมิภาค ของซีมีโอ และหุ้นส่วนความร่วมมือ ก่อนนำเสนอต่อสภารัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สภาซีเมค) เพื่อให้ความเห็นชอบและอนุมัติต่อไป นอกจากนี้ ยังกล่าวว่า องค์การซีมีโอกำลังจัดทำแผนกลยุทธ์วาระการศึกษา ภายหลังปี 2563 เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานเพื่อพัฒนาการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม ของภูมิภาคในอีก 10 ปีข้างหน้า

          2. การประชุมวาระเฉพาะของการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสของซีมีโอ ครั้งที่ 42 วันที่ 26 พฤศจิกายน 2562 เวลา 15.00 – 16.30 น. ซึ่งปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบหมายให้ นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ฝ่ายต่างประเทศ) เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ในการประชุมดังกล่าว โดย Dato’ Dr. Mohd Gazali Abas ปลัดกระทรวงศึกษาธิการมาเลเซีย ทำหน้าที่ประธานการประชุมวาระเฉพาะ

          ที่ประชุมได้ร่วมกันรับรองรายงานในส่วนที่เป็นการแจ้งเรื่องข้อมติ จำนวน 8 เรื่อง ได้แก่ การติดตามผลการดำเนินงานตามข้อมติของสภาซีเมค ครั้งที่ 50 รายงานการประชุมคณะกรรมการบริหาร ของซีมีโอ ประจำปี 2562 ข้อเสนอแผนพัฒนา 5 ปี ระยะที่ 3 ของศูนย์ซีมีโอคีเท็ปด้านวิทยาศาสตร์ ศูนย์ซีมีโอ คีเท็ปด้านภาษา และศูนย์ซีมีโอคีเท็ปด้านคณิตศาสตร์ ข้อเสนอแผนพัฒนา 5 ปี ระยะที่ 11 ของศูนย์ซีมีโอ เรคแซม และศูนย์ซีมีโอเซียร์ก้า รวมทั้งข้อเสนอการแก้ไขชื่อหน่วยงาน วิสัยทัศน์ และพันธกิจศูนย์ซีมีโอเซ็น

          นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ร่วมกันพิจารณาและให้ข้อคิดเห็นในประเด็นสำคัญ จำนวน 5 เรื่อง ได้แก่ ข้อเสนองบดำเนินงานระยะ 3 ปี ของสำนักงานเลขาธิการซีมีโอ ข้อเสนอการขอปรับเพิ่มอัตรา ค่าเบี้ยเลี้ยงของซีมีโอ ข้อเสนอการสมัครเป็นสมาชิกหน่วยงานสมทบของซีมีโอของ British Columbia Council for International Education (BCCIE) ข้อเสนอการกำหนดวันเฉลิมฉลองของซีมีโอ (SEAMEO Day) ในวันที่ 30 พฤศจิกายนของทุกปี รวมถึงข้อเสนอการปรับแก้ไขกฎระเบียบของศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วย สะเต็มศึกษาของซีมีโอ ทั้งนี้ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการของไทยได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่าการปรับแก้ไขกฎระเบียบดังกล่าวเพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดขององค์การซีมีโอและศูนย์ระดับภูมิภาคของซีมีโออื่น ๆ รวมทั้งเพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการของศูนย์ SEAMEO STEM-ED

          3. การประชุมเต็มคณะของการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสของซีมีโอ ครั้งที่ 42 ระหว่างวันที่ 27 – 28 พฤศจิกายน 2562 โดย Dato’ Dr. Mohd Gazali Abas ปลัดกระทรวงศึกษาธิการมาเลเซีย ทำหน้าที่ประธานการประชุมเต็มคณะ

          ในระหว่างการประชุมเต็มคณะ ที่ประชุมได้รับทราบเรื่องต่าง ๆ เช่น รายงานผล การติดตามผลการดำเนินงานตามข้อมติจากการประชุมสภาซีเมค ครั้งที่ 50 และการประชุมหารือ เชิงยุทธศาสตร์ระดับรัฐมนตรีศึกษาของซีมีโอ ครั้งที่ 4 สรุปข้อตกลงต่าง ๆ จากการประชุมผู้อำนวยการศูนย์ระดับภูมิภาคของซีมีโอ ปี 2562 ความก้าวหน้าแผนยุทธศาสตร์ของซีมีโอ ปี 2564 – 2573 ข้อเสนอเกี่ยวกับศูนย์แหล่งทรัพยากรการศึกษาแบบเปิดสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ข้อเสนอโครงการ ความร่วมมือระหว่างศูนย์ระดับภูมิภาคของซีมีโอเกี่ยวกับการดูแลเด็กปฐมวัย และการจัดการศึกษา ด้านโภชนาการ โครงการส่งเสริมคุณภาพการศึกษาระหว่างซีมีโอ และติมอร์-เลสเต และความก้าวหน้าโครงการเกี่ยวกับการใช้โรงเรียนเป็นฐานในการส่งเสริมการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติสำหรับมรดกทางวัฒนธรรม ปี 2561 – 2563 เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้แทนประเทศสมาชิกซีมีโอแต่ละประเทศ ได้นำเสนอการดำเนินโครงการ/กิจกรรมที่สำคัญภายใต้ประเด็นสำคัญด้านการศึกษาของซีมีโอ 7 ประเด็น โดยผู้แทนสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป. เป็นผู้รายงานการดำเนินโครงการฯ ของไทย ดังนี้

          1. การส่งเสริมการจัดการศึกษาและการดูแลเด็กปฐมวัย ได้แก่ การพัฒนาหลักสูตร การเรียนการสอนสำหรับเด็กอายุระหว่าง 3 – 6 ปี การจัดทำร่างแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย ปี พ.ศ. 2561 – 2564 และการกำหนดมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ

          2. การจัดการอุปสรรคในการเข้าถึงการศึกษา ได้แก่ การจัดให้เรียนฟรี 15 ปี สำหรับผู้เรียนทุกคน รวมถึงผู้ผลัดถิ่น และผู้ไร้สัญชาติ การจัดตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เพื่อร่วมดำเนินโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข การจัดทำกรอบแนวคิด การพัฒนาทักษะชีวิตสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติป้องกันและแก้ไขปัญหาตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

          3. การเตรียมความพร้อมการศึกษาเพื่อเผชิญกับสภาวะฉุกเฉิน ได้แก่ การจัดทำคู่มือ การบริหารจัดการภัยพิบัติธรรมชาติ และคู่มือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อลดความเสี่ยงภัยพิบัติธรรมชาติ และการปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งการสำรวจสถานการณ์ความเสี่ยงภัยพิบัติธรรมชาติของสถานศึกษา และการพัฒนาครูโดยใช้หลักสูตร E-training ในการจัดการความความเสี่ยงภัยพิบัติธรรมชาติ

          4. การส่งเสริมการศึกษาและฝึกอบรมด้านเทคนิคและอาชีวศึกษา ได้แก่ การจัดฝึกอบรมหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้นฐานสมรรถนะ (Education to Employment: E to E) เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรม มีสมรรถนะในวิชาชาชีพ และสามารถนำความรู้ไปทำงานในสถานประกอบการและในท้องถิ่น รวมถึง การประเมินสถานศึกษาต้นแบบทวิภาคี สานพลังประชารัฐ (Excellent Model School) เพื่อผลิตผู้เรียน ที่มีคุณภาพและความเชี่ยวชาญตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ

          5. การปฏิรูประบบการพัฒนาครู ได้แก่ โครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น และโครงการพัฒนาครูรูปแบบครบวงจร โดยครูสามารถเลือกหลักสูตรพัฒนาตนเองตามความถนัดและความสนใจ

          6. การเสริมสร้างความร่วมมือด้านการอุดมศึกษาและการวิจัย ได้แก่ โครงการทุนพัฒนาศักยภาพในการทำงานวิจัยของอาจารย์รุ่นใหม่

          7. การพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ได้แก่ โครงการการขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้สะเต็มศึกษา และโครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้

               สำหรับประเด็นสำคัญที่มีการอภิปรายในการประชุมเต็มคณะ ได้แก่

          1) ความก้าวหน้าโครงการ SEAMEO Education Database โดยใช้รูปแบบฐานข้อมูลออนไลน์ ซึ่งตั้งแต่ปี 2561 สำนักงานเลขาธิการซีมีโอ ได้พัฒนาแพลตฟอร์มใหม่เกี่ยวกับฐานข้อมูล ด้านการศึกษาของซีมีโอ ระหว่างปี 2556 - 2562 โดยสามารถเข้าไปดูรายละเอียดข้อมูลดังกล่าวได้ที่เว็บไซต์ http://seainfo.seameo.org/login

          2) รายงานเกี่ยวกับการจัดประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศสมาชิกซีมีโอ และสมาชิกสมทบ ครั้งที่ 8 ซึ่งการประชุมข้างต้น จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 – 22 สิงหาคม 2562 ในหัวข้อ “Advancing School Safety and Resilience in the Southeast Asian Regional” ณ เมือง Bohal สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ โดยที่ประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดี และบทเรียนในเรื่อง School Safety and Resilience in the Southeast Asian Regional

          3) รายงานเกี่ยวกับการจัดประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการอาชีวศึกษาของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 5 และโครงการแลกเปลี่ยนด้าน SEA TVET โดยการประชุมดังกล่าว จัดขึ้นระหว่างระหว่างวันที่ 9 - 10 กันยายน 2562 ในหัวข้อ “Strengthening Efforts towards TVET 4.0” ณ ประเทศบรูไนดารุสซาลาม นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี 2561 สำนักงานเลขาธิการซีมีโอได้ร่วมมือกับสถาบัน ด้าน TVET รวมทั้งกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานต่าง ๆ ของประเทศสมาชิกซีมีโอ จัดโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาด้าน TVET ซึ่งในช่วงปี 2561 – 2562 ได้ดำเนินการแล้วใน 4 รุ่น มีนักศึกษาจำนวน 1,143 คน จาก 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม เข้าร่วมโครงการครั้งนี้

          4) รายงานการจัดงาน SEAMEO RIHED’s Southeast Asian Higher Education Week และการเฉลิมฉลองครบรอบ 60 ปี ของการก่อตั้งศูนย์ซีมีโอไรเฮด ในปี 2562 โดยศูนย์ซีมีโอไรเฮด ได้จัดงานดังกล่าว ระหว่างวันที่ 11 – 15 พฤศจิกายน 2562 ณ โรงแรม Nikko กรุงเทพฯ

          5) ความก้าวหน้าการจัดประชุม High-Level Policy Forum ในหัวข้อ การวางแผน การใช้ปัญญาประดิษฐ์ในนโยบายด้านการศึกษาและการส่งเสริมปัญญาประดิษฐ์สำหรับผู้จัดทำนโยบายการศึกษา โดยสำนักงานเลขาธิการซีมีโอ ได้ร่วมมือกับศูนย์ซีมีโอซีโมเลค และหุ้นส่วนความร่วมมือ จัดการประชุม High-Level Policy Forum พร้อมกับการจัดประชุม SEAMEO SEAMOLEC’s International Conference on Embedding Artificial Intelligence (AI) in Education Policy and Practice for Southeast Asia ระหว่างวันที่ 18 – 19 กันยายน 2562 ณ กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้ ในการดำเนินโครงการด้าน AI และเสริมสร้างความร่วมมือในการนำ AI ไปใช้พัฒนาผลลัพธ์จากการเรียนรู้ ให้มีคุณภาพ

          6) ความก้าวหน้าโครงการความร่วมมือระหว่างซีมีโอและศูนย์ระดับภูมิภาคของซีมีโอ ปี 2562/2563 ซึ่งปัจจุบันมีศูนย์/เครือข่ายระดับภูมิภาคของซีมีโอ จำนวน 26 แห่ง (25 ศูนย์ 1 เครือข่าย) ที่ตั้งอยู่ใน 10 ประเทศของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

              นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบการนำเสนอการดำเนินกิจกรรมและแผนงาน ความร่วมมือในปี 2562 ระหว่างองค์การซีมีโอ ประเทศสมาชิกสมทบ (ออสเตรเลีย) หน่วยงานที่เป็นสมาชิกสมทบ (บริติช เคาน์ซิล และ University of Tsukuba) และหุ้นส่วนความร่วมมือต่าง ๆ เช่น กระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของญี่ปุ่น ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย สำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ และองค์การยูนิเซฟ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิกฟิก เป็นต้น พร้อมทั้งรับทราบกำหนดการจัดประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสของซีมีโอ ครั้งที่ 43 ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน – 1 ธันวาคม 2563 ในประเทศไทย

          อนึ่ง กระทรวงศึกษาธิการ ได้เป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงรับรองอาหารค่ำ เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้เข้าร่วมการประชุม ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 ณ โรงแรม Berkeley ประตูน้ำ โดยปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบหมายให้ นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ฝ่ายต่างประเทศ) เป็นประธานงานเลี้ยงดังกล่าว

42nd SEAMEO2 6 12 2562

          สำนักงานเลขาธิการซีมีโอ ได้จัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสของซีมีโอเป็นประจำทุกปี ซึ่งครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 42 ระหว่างวันที่ 26 – 28 พฤศจิกายน 2562 ณ โรงแรม Berkeley ประตูน้ำ กรุงเทพฯ โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุม จำนวนมากกว่า 120 คน ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และผู้แทนอาวุโสระดับสูงจากประเทศสมาชิกซีมีโอ 11 ประเทศ ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา อินโดนีเซีย สปป. ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย ติมอร์-เลสเต และเวียดนาม ผู้แทนประเทศสมาชิกสมทบ ผู้แทนหน่วยงาน ที่เป็นสมาชิกสมทบ ผู้อำนวยการศูนย์ระดับภูมิภาคของซีมีโอ ผู้อำนวยการและเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการ ซีมีโอ รวมทั้งผู้แทนองค์กรและหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีกำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติเพื่อพัฒนาการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกำหนดแนวทางในการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก ดังนั้น การประชุมครั้งนี้ จึงมีความสำคัญที่ผู้บริหารระดับสูงด้านการศึกษาของประเทศสมาชิก ซีมีโอ ได้มีโอกาสในการกลั่นกรองโครงการและกิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อภูมิภาค และหาข้อสรุปร่วมกัน ก่อนที่จะนำเสนอต่อสภารัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สภาซีเมค) เพื่อให้ความเห็นชอบและอนุมัติต่อไป

 ******************************************

สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
6 ธันวาคม 2562
(ขอขอบคุณภาพจากสำนักงานเลขาธิการซีมีโอ)