Loading color scheme

ยูเนสโกประกาศยกย่องพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นบุคคลสำคัญของโลก

unesco 40th 26 11 2562

          นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยยูเนสโก ได้กล่าวว่า ที่ประชุมสมัยสามัญของยูเนสโก ครั้งที่ 40 เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 ได้มีมติประกาศร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสครบรอบ 150 ปีชาตกาลพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต และครบรอบ 100 ปีแห่งการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นและทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก ตามที่คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เป็นผู้เสนอ ซึ่งการเสนอครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากสาธารณรัฐประชาชนจีน เกาหลี และเวียดนาม

          หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 20 เดือนมกราคม พ.ศ. 2413 ณ จังหวัดอุบลราชธานี ได้เข้าบวชเณรเมื่ออายุ 15 ปี ต่อมาเมื่ออายุได้ 22 ปี ได้บรรพชาอุปสมบทบวชเป็นพระภิกษุ หลังอุปสมบท ท่านได้ศึกษาในฝ่ายวิปัสสนากรรมฐาน (ธรรมยุต) ศึกษาพระปริยัติธรรม และออกฝึกปฏิบัติ “ธุดงคกรรมฐาน” โดยธุดงค์ไปตามสถานที่ที่เป็นป่าเขา ถ้ำ เงื้อมผา ทางภาคเหนือ ภาคอีสาน จนถึง ประเทศพม่า เมืองหลวงพระบาง สปป.ลาว เป็นต้น ท่านได้อาศัยอยู่ตามป่าเขาตลอด 57 ปีของการบรรพชา เป็นพระเกจิอาจารย์ใหญ่แห่งวงศ์กรรมฐานของไทย สายวิปัสสนาธุระ เคร่งครัดในพระธรรมวินัย ข้อวัตรปฏิบัติ โดยเฉพาะการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานและการภาวนาเจริญสมาธิ ซึ่งเป็นที่นิยมของคนทั่วโลกในปัจจุบัน ท่านได้ประพฤติตนเป็นแบบอย่างอันดีงาม เป็นที่ยอมรับของประชาชนชาวไทย และต่างประเทศ เมื่อได้นำคำสอนขององค์ท่านไปปฏิบัติตาม ย่อมเกิดความสงบ นำมาซึ่งสันติ แก่คนทั่วโลกได้อย่างยั่งยืน ซึ่งในมติที่ประชุมครั้งนี้ ยูเนสโกได้ประกาศการเฉลิมฉลองวันครบรอบ 150 ปีชาตกาล ของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต (150th anniversary of the birth of the Venerable Ajaan Mun Bhuridatta Thera, monk, 1870-1949) ซึ่งจะครบรอบในวันที่ 20 มกราคม 2563

Ajaan Mun Bhuridatta Thera 26 11 2562

          สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงวางรากฐานการประถมศึกษาและระบบการศึกษาของคณะสงฆ์ไทย อันมีพระพุทธศาสนาเป็นรากฐาน เป็นผู้มีส่วนอย่างสำคัญพระองค์หนึ่งในการสนองพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการพัฒนาการศึกษาประชาบาลที่มีโรงเรียนเป็นฐาน โดยจัดวัดเป็นโรงเรียน ทรงรับพระธุระอำนวยการจัดการศึกษาในหัวเมืองสอดคล้องกับพระราชปณิธานในล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ในการวางระบบการศึกษาตามแผนการศึกษาสยาม พ.ศ. 2441 เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาของคนไทยทุกเพศทุกวัยให้ครอบคลุมทั่วทั้งพระราชอาณาจักรและเป็นรากฐานของตราพระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. 2464 ที่กำหนดหน้าที่ของผู้ปกครองในการส่งบุตรธิดาเข้ารับการศึกษาภาคบังคับตามที่รัฐกำหนด ซึ่งถือเป็นกระบวนการเสริมสร้างโอกาสทางการศึกษาที่ทั่วถึงและเท่าเทียมประเทศแรกๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งในมติที่ประชุมครั้งนี้ ยูเนสโกได้ประกาศ การเฉลิมฉลองวันครบรอบ 100 ปีแห่งการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (100th anniversary of the death of His Royal Highness Prince Vajirananavarorasa, 1860-1921)

          การฉลองบุคคลสำคัญและเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์เป็นโครงการที่สำคัญของยูเนสโก ในฐานะองค์การระหว่างประเทศที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเชิดชูเกียรติคุณของบุคคลและเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของประเทศสมาชิกยูเนสโกที่เกิดขึ้นในอดีต มีความโดดเด่นสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นแบบอย่างของความมีคุณค่าทางด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม และสังคมศาสตร์ หรือสื่อสารมวลชน ช่วยส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศ เสริมสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นของประชาชนและ/หรือทำให้เกิดสันติภาพของประเทศหรือของโลก

*********************************************

สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
26 พฤศจิกายน 2562