Loading color scheme

กระทรวงศึกษาธิการชูโมเดลการจัดการศึกษาพหุภาษาในเวทีนานาชาติ

Multilingual Education 26 9 2562

          เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2562 นายไกรเสริม โตทับเที่ยง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวในพิธีเปิดการประชุมเชิงวิชาการด้านการมีส่วนร่วม การโยกย้ายถิ่น และการศึกษาพหุภาษา “Inclusion, Mobility, and Multilingual Education” และการประชุมระดับสูง
เชิงนโยบายด้านการศึกษาพหุภาษา “High-level Policy Forum on Multilingual Education” ซึ่งสำนักงานยูเนสโก บริติช เคานซิล และกลุ่ม Asia-Pacific Multilingual Education Working Group ร่วมกันจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 24 - 26 กันยายน 2562 ณ โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพฯ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากประเทศต่างๆ กว่า 500 คน

          ในโอกาสนี้ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวถึงภาพรวมขีดความสามารถการแข่งขันของไทยที่ดีขึ้น จากรายงาน ดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก 4.0 (Global Competitiveness Index : GCI 4.0) ประเทศไทยขยับจากอันดับที่ 40 ในปี 2560 ขึ้นเป็นอันดับที่ 38 ซึ่งการศึกษานับเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม และเป็นกุญแจสู่ความยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ

Multilingual Education2 26 9 2562

          ประเทศไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อแนวทางการจัดการการศึกษาแบบเรียนร่วม (Inclusive Education) และความเสมอภาคทางการศึกษา ตลอดจนการเรียนรู้ตลอดชีวิต ดังนั้น กฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาจึงมุ่งเน้นไปที่การจัดการศึกษาแก่ผู้คนทุกวัยและทุกช่วงชีวิต รัฐบาลปัจจุบันได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษโดยมีการลงทะเบียนเข้าเรียนในโรงเรียนประถมเกือบ 100% เป็นเวลาหลายปีที่เราได้ให้การศึกษาฟรี 15 ปีตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงมัธยม การศึกษาฟรีนี้ครอบคลุมเด็ก 230,000 คนที่ไร้เอกสารไร้สัญชาติและเด็กแรงงานอพยพ อย่างไรก็ตาม จากรายงาน การติดตามการศึกษาทั่วโลกขององค์การยูเนสโก (UNESCO 2017/18) ระบุว่ามีนักเรียนเพียง 85% เท่านั้นที่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น รัฐบาลจึงออกแบบและนำระบบดิจิทัลมาใช้เพื่อติดตามเด็กที่มีความเสี่ยงที่จะเลิกเรียนและพลาดโอกาสทางการศึกษา เพื่อให้มั่นใจว่าเด็กทุกคนเข้าถึงการศึกษา นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการยังได้สนับสนุนเงินสงเคราะห์เพื่อเป็นทุนการศึกษาให้แก่ในกลุ่มที่ยากจนที่สุด ซึ่งมีอยู่ ร้อยละ 13.29 และให้เด็กที่อยู่ในกลุ่มยากจนมากร้อยละ 23.04 เพื่อให้เด็กเหล่านี้ยังคงอยู่ในระบบการศึกษา

Multilingual Education3 26 9 2562

          นอกจากนี้ สิ่งท้าทายที่สำคัญประการหนึ่งในโรงเรียนขนาดเล็กคือการสื่อสารระหว่างครู กับนักเรียน ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ กำลังแก้ไขปัญหานี้โดยการพัฒนาโมเดลการจัดการเรียนการสอนในหลายพื้นที่ อาทิ ในภาคใต้มีโครงการการศึกษาหลายภาษาปัตตานี มาเลย์ ไทย ซึ่งได้รับรางวัลการรู้หนังสือของ UNESCO King Sejong Literary Prize ประจำปี 2559 และรางวัล Wenxui Award รางวัลนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาวิชาชีพ ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นตัวอย่างที่ดีของความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ ยูนิเซฟ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และชุมชนท้องถิ่น อาจารย์ ผู้ปกครอง และนักเรียน เด็ก ๆ ในโครงการดังกล่าวได้เรียนรู้ที่การอ่านและเขียนภาษามลายูในพื้นที่ก่อนแล้วจึงเปลี่ยนเป็นภาษาไทยโดยใช้หลักสูตรพิเศษที่พัฒนาทักษะการฟังภาษาไทยก่อนที่จะพูดการอ่านและการเขียน ในภาคเหนือ มีโครงการคล้ายกัน ซึ่งจัดโดยหน่วยงานด้านการศึกษาในท้องถิ่นที่ร่วมมือกับมูลนิธิภาษาศาสตร์ประยุกต์และมูลนิธิเด็ก Pestalozzi ได้ช่วยเหลือเด็ก ๆ จาก 7 ภาษา

          ผลการวิจัยจากโครงการทั้งสองข้างต้น มีส่วนช่วยสนับสนุนกระทรวงศึกษาธิการ ในการหาวิธีการสอนภาษาไทยให้กับเด็กผู้อพยพกว่า 400,000 คน ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย เพื่อให้พวกเขาได้รับความรู้จากหลักสูตรการเรียนของไทยอย่างมีคุณภาพ และการได้รับการศึกษาสามารถช่วยปกป้องเด็กที่เปราะบางให้ปลอดภัยจากการค้ามนุษย์ การใช้ยาเสพติด และปัญหาสังคมอื่น ๆ จึงหวังว่าการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่างๆ ของไทยตามที่กล่าวข้างต้นในระหว่างการประชุมครั้งนี้ จะประโยชน์แก่ผู้ที่เข้าร่วมการประชุมจากประเทศต่างๆ ในการนำไปต่อยอดในการคิดโครงการ และนวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อการบรรลุเป้าหมายที่ 4 (ด้านการศึกษา) ของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ

Multilingual Education4 26 9 2562

***************************************************

กลุ่มองค์การระหว่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
26 กันยายน 2562