Loading color scheme

โครงการฝึกอบรมนานาชาติ เรื่อง การใช้ข้อมูลจากระบบพยากรณ์ทะเลและการเปลี่ยนแปลงทางสมุทรศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ปะการัง

WESTPAC4

               นางขนิษฐา ห้านิรัติศัย ผู้อำนวยการสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป. ในฐานะรองเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) กล่าวเปิดโครงการฝึกอบรมนานาชาติ เรื่อง การใช้ข้อมูลจากระบบพยากรณ์ทะเลและการเปลี่ยนแปลงทางสมุทรศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ปะการัง (WESTPAC Training Workshop on Delivering Ocean Forecasting Services for Coral Reef Conservation) เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2562 ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต
         ผู้อำนวยการสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ ได้กล่าวถึงสถานการณ์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมด้านมหาสมุทรว่า ปัจจุบัน มีประชากรกว่า 3 พันล้านคนที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรทางทะเลและความหลากหลายทางชีวภาพในการดำรงชีวิต จากสถิติของสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nation Development Programme: UNDP) แสดงให้เห็นว่า ในมหาสมุทรประกอบด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากมนุษย์ถึงร้อยละ 30 และจะสามารถเจอขยะพลาสติกกว่า 13,000 ชิ้นในทุกตารางกิโลเมตรของมหาสมุทร รวมถึงในประเทศไทยที่มีกรณีของพะยูน “มาเรียม” ที่เสียชีวิตเนื่องจากกินขยะพลาสติกเข้าไป สถานการณ์ดังกล่าวแสดงถึงสัญญาณอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งจำเป็นต้องมีการดำเนินการในทันทีเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมทางทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 14 (Sustainable Development Goal: SDG14) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อ “อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” นอกจากนี้ ยูเนสโกยังได้ประกาศให้ปี ค.ศ. 2021-2030 เป็น “ทศวรรษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยวิทยาศาสตร์ทางมหาสมุทรเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” (The UN Decade of Ocean Science for Sustainable Development) ก็จะเป็นโอกาสดีในการหารือความร่วมมือเพื่อเก็บรักษาทรัพยากรทางทะเลให้คงอยู่กับมนุษยชาติต่อไป 
          โอกาสนี้ ได้กล่าวถึงการดำเนินความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับสำนักเลขาธิการคณะอนุกรรมาธิการสมุทรศาสตร์ระหว่างรัฐบาลภาคพื้นแปซิฟิกตะวันตก (IOC Sub-Commission for the Western Pacific – IOC/WESTPAC) และศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน โดยกระทรวงศึกษาธิการได้ให้การสนับสนุนการดำเนินโครงการฝึกอบรมนานาชาติมาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว โดยโครงการต่างๆ ที่ผ่านมาประสบความสำเร็จได้ด้วยความร่วมมือกับหน่วยงานและบุคคลากรที่เกี่ยวข้องซึ่งอุทิศตนและทุ่มเทมาโดยตลอด จึงยินดีที่จะดำเนินความร่วมมือและให้การสนับสนุนต่อไป
           อนึ่ง โครงการฝึกอบรมนานาชาติดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 - 13 กันยายน 2562 ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน จังหวัดภูเก็ต โดยกระทรวงศึกษาธิการร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน และสำนักเลขาธิการคณะอนุกรรมาธิการสมุทรศาสตร์ระหว่างรัฐบาลภาคพื้นแปซิฟิกตะวันตก (IOC/WESTPAC) เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลและภูมิอากาศที่ได้จากการประมวล วิเคราะห์ และสังเคราะห์องค์ความรู้มาสร้างฐานองค์ความรู้ใหม่เพื่อใช้ในการประเมินผลกระทบที่เกิดจากปรากฏการณ์และกระบวนการทางด้านสมุทรศาสตร์ต่อระบบนิเวศวิทยา โดยเฉพาะปะการัง อีกทั้งเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องระบบพยากรณ์ทางด้านสมุทรศาสตร์ วิธีการที่จะนำข้อมูลมาทำการวิเคราะห์และแปลผลโดยการใช้ซอฟต์แวร์ งานวิจัยเกี่ยวกับกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางด้านสมุทรศาสตร์และภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อการเกิดฤดูมรสุมและปะการังฟอกขาว ซึ่งจะทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันของนักวิจัยในการพัฒนาองค์รู้ใหม่จากการวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลเพื่อพัฒนาระบบงานใหม่ที่จะใช้ในการสนับสนุนการจัดการทรัพยากร (ปะการัง) รวมทั้งการตัดสินใจของผู้รับผิดชอบ โดยผู้เข้าร่วมโครงการฯ ประกอบด้วย นักศึกษา นักวิจัยจากสถาบันอุดมศึกษา และหน่วยงานวิจัยทางด้านทะเลของภาครัฐจากประเทศในภูมิภาคและสมาชิกของยูเนสโก อาทิ สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม สหพันธรัฐมาเลเซีย สาธารณรัฐอินโดนีเซีย และไทย ประมาณ 20 คน 

Westpac5

WESTPAC2.2

Westpac6

 

ข่าว/ภาพ: กลุ่มความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป.
ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน
12 กันยายน 2562

FOLLOW US
f1.1 ff3.3 ff2.2