Loading color scheme

ความร่วมมือด้านการศึกษากับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เยาวชน และกีฬาของติมอร์-เลสเต

timor leste 27 5 2562                      เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2562 เวลา 16.00 น. รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เยาวชน และกีฬาของติมอร์-เลสเต (นายซัวเอา ซาคาเรียช ไฟรย์ตัช โชอาเรช) ได้ให้การต้อนรับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์) และคณะผู้แทนไทยในโอกาสเดินทางไปเยือนสาธารณรัฐติมอร์-เลสเต อย่างเป็นทางการ
timor leste1 27 5 2562                     ในการนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เยาวชน และกีฬาของติมอร์-เลสเต ได้กล่าวแสดงความชื่นชมระบบการศึกษาของประเทศไทย ซึ่งมีการพัฒนาการศึกษาอย่างยาวนาน และได้ให้ความร่วมมือช่วยเหลือในการพัฒนาการศึกษาของประเทศในเอเชีวตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งติมอร์-เลสเต อย่างต่อเนื่อง สำหรับการศึกษาของติมอร์-เลสเต รัฐบาลมีนโยบายที่จะเน้นการพัฒนาการศึกษาอยู่ 3 เรื่อง ได้แก่

                    1. เรื่องการอาชีวศึกษา
                    2. เรื่องการปรับหลักสูตรในระดับมัธยมศึกษา เพื่อพัฒนาทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21
                    3. เรื่องการพัฒนาครู ซึ่งจะเน้นทั้งทางด้านเทคนิคการสอนและทฤษฎีต่างๆ
 
                    พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษา ได้กล่าวแสดงความประทับใจประเทศติมอร์-เลสเต โดยได้กล่าวว่า มีความประสงค์ที่จะเดินทางมาเยือนติมอร์-เลสเตเป็นเวลานานแล้วตั้งแต่สมัยที่ยังรับราชการทหารอยู่ แต่ในขณะนั้นสามารถทำได้เพียงการมีส่วนร่วมในการคัดเลือกทหารไทยและ การเตรียมความพร้อมให้กับเหล่าทหารก่อนที่จะมาประจำการในติมอร์-เลสเต สำหรับการมาในครั้งนี้ได้มา ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งก็มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง และยินดีที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการพัฒนาการศึกษาของไทยให้กับติมอร์-เลสเต ซึ่งประเด็นทั้ง 3 เรื่องที่ฝ่ายติมอร์-เลสเต ได้กล่าวถึง ประเทศไทยมีความยินดีเป็นอย่างมากที่จะให้การสนับสนุนช่วยเหลือ และขอแจ้งให้ทราบว่าภายใต้การบริหารงานของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการอาชีวศึกษา ซึ่งในปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการได้มีความร่วมมือกับภาคเอกชน เพื่อจัดการอาชีวศึกษาให้สอดคล้องกับตลาดแรงงาน โดยมีคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนอาชีวศึกษาและการฝึกปฏิบัติงาน ในสถานประกอบการ เพื่อให้นักเรียนได้สัมผัสกับการฝึกปฏิบัติในชีวิตจริง
  

                   นอกจากนี้ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญต่อการจัดการศึกษาให้กับเด็กที่พลาดโอกาส และตกหล่นจากระบบการศึกษาเพื่อกลับเข้ามาสู่ระบบการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ภายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งผลจากการสำรวจพบว่ามีนักเรียนที่มีอายุในวัยเรียนระหว่าง 3 - 18 ปี ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาจำนวนประมาณ 2 ล้านคน และภายหลังจากนั้นไม่นาน เมื่อได้จัดเข้าไปสู่ระบบ ทำให้มีเด็กถึงจำนวน 40,000 คน สามารถเข้ามาอยู่ในระบบการศึกษาได้จนเป็นที่ชื่นชมของ UNESCO และสนับสนุนให้ประเทศไทยแบ่งปันประสบการณ์จากผลสำเร็จครั้งนี้ให้กับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะในประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งเป็นเรื่องที่ประเทศไทยจะได้นำเสนอในรายงานของที่ประชุมอาเซียนในปีนี้

                    จากการพบปะหารือระหว่างรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาของไทยและติมอร์-เลสเต ครั้งนี้ ถือว่าเป็นการกระชับความสัมพันธ์ และความร่วมมือด้านการศึกษาของทั้งสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ซึ่งประเด็นต่างๆ ที่ได้หารือจะมีการสานต่อให้เป็นรูปธรรม ด้วยการเร่งจัดทำบันทึกความตกลง (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษาของทั้งสองประเทศ โดยขณะนี้ ฝ่ายติมอร์-เลสเตกำลังพิจารณาร่างบันทึกความตกลงดังกล่าวและทั้งสองฝ่ายจะเร่งดำเนินการให้มีการลงนามในบันทึกความตกลงด้านการศึกษาโดยเร็ว

timor leste2 27 5 2562                    นอกจากนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาของไทย (พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์) ยังได้เรียนเชิญ กระทรวงศึกษาธิการ เยาวชน และกีฬาของติมอร์-เลสเต ให้ส่งลูกเสือเข้าร่วมในงานชุมนุมลูกเสือบำเพ็ญประโยชน์เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก “ลูกเสือจิตอาสาทำความดี รวมใจภักดี เทิดไท้องค์ราชัน” ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-9 มิถุนายน 2562 ที่จังหวัดชลบุรี ทั้งนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการของติมอร์-เลสเตได้ตอบรับที่จะพิจารณาจัดส่งคณะลูกเสือจากติมอร์-เลสเต เข้าร่วมในโอกาสดังกล่าว

**************************************************************

สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
25 เมษายน 2562