Loading color scheme

การประชุมคณะทำงานร่วมด้านการศึกษา ระหว่าง ศธ.กับโมร็อกโก ครั้งที่ 1

ddDSC. 5659

 กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะทำงานร่วมด้านการศึกษาไทย-โมร็อกโก ครั้งที่ 1 (Joint Working Group) ระหว่างวันที่ 22-24 พฤศจิกายน 2561 ณ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และกรุงเทพมหานคร โดย พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมคณะทำงาน ร่วมกับ H.E. Mr Mohammed Rherrass รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการแห่งชาติ การฝึกอบรมวิชาชีพ การอุดมศึกษา และการวิจัย แห่งราชอาณาจักรโมร็อกโก เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 22 พฤศจิกายน 2561 ณ โรงแรมอมารี หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

172831

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ กล่าวว่า ในนามของ ศธ. ยินดีต้อนรับคณะผู้แทนจากกระทรวงศึกษาธิการแห่งชาติฯ โมร็อกโก ที่ได้เดินทางมาเยือนประเทศไทย เพื่อเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ด้วยความยินดีอย่างยิ่ง ซึ่งการประชุมครั้งนี้เป็นการดำเนินงานที่ต่อเนื่องมาจากการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษาและการวิจัย ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการของไทย กับกระทรวงศึกษาธิการแห่งชาติฯ โมร็อกโก เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2561 ณ กรุงราบัต ราชอาณาจักรโมร็อกโก โดยได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานร่วมกัน ซึ่งฝ่ายไทยมีปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (นายการุณ สกุลประดิษฐ์) เป็นหัวหน้าคณะทำงาน

สำหรับความร่วมมือที่จะดำเนินการร่วมกันตามกรอบบันทึกความเข้าใจดังกล่าว ศธ. ยินดีที่จะมอบทุนการศึกษาให้แก่นักศึกษาโมร็อกโก เพื่อศึกษาในระดับปริญญาโท จำนวน 5 ทุน ตั้งแต่ปีการศึกษา 2562 ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต 2 ทุน ในหลักสูตรการโรงแรมการท่องเที่ยว, มหาวิทยาลัยขอนแก่น 1 ทุน สาขาการเกษตร, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 1 ทุน สาขาการจัดการระบบการเกษตร และมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตเพชรบุรี 1 ทุน สาขาปศุสัตว์ โดยมหาวิทยาลัยทั้ง 4 แห่ง เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย ซึ่งเปิดทำการเรียนการสอนมาเป็นเวลานานและมีองค์ความรู้วิชาการที่เหมาะสม

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) เพื่อนำมาเป็นกรอบแนวทางการพัฒนาประเทศ ศธ.ได้ดำเนินการปฏิรูปการศึกษาโดยยึดแนวทางของยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และแผนการศึกษา มาเป็นหลักในการปฏิรูปการศึกษา รวมทั้งได้ดำเนินงานตามนโยบาย THAILAND 4.0 ที่จะพัฒนาประเทศด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม นำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ดังนั้นการประชุมครั้งนี้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างมากที่ทั้งสองประเทศได้มีโอกาสพัฒนาการดำเนินงานให้มีความก้าวหน้าและต่อเนื่องจากการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกัน โดยประเทศไทยเห็นด้วยที่จะมีการตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อทำงานด้านต่าง ๆ อาทิ คณะอนุกรรมการด้านวิจัยและนวัตกรรม เป็นต้น และขอขอบคุณกระทรวงศึกษาธิการแห่งชาติฯ โมร็อกโก ที่ได้สนับสนุนทุนให้กับนักศึกษาไทยอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2539 จำนวน 15 ทุน/ปี อันแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของทั้งสองประเทศ

DSC 5481DSC 5506

172817

H.E. Mr Mohammed Rherrass กล่าวว่า ไทยและโมร็อกโกมีความสัมพันธ์อันดีและความร่วมมือในด้านต่าง ๆ มาโดยตลอด อาทิ ความร่วมมือทวิภาคีด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และวิทยาศาสตร์ เป็นต้น สำหรับการประชุมคณะทำงานร่วมฯ ในครั้งนี้ ฝ่ายโมร็อกโกมีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็นประธานคณะทำงานร่วมฯ ซึ่งเป็นการประชุมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินงานตามกรอบบันทึกความเข้าใจฯ ที่ไทยและโมร็อกโกได้ลงนามร่วมกัน รวมทั้งเป็นการสำรวจความเป็นไปได้ ในความร่วมมือที่ทั้งสองฝ่ายมีความสนใจร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือด้านการอุดมศึกษาและการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ตลอดจนได้มีโอกาสเยี่ยมเยือนสถานที่สำคัญต่าง ๆ ของไทยด้วย

โมร็อกโกให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการอบรมวิชาชีพ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จและความเจริญรุ่งเรืองต่าง ๆ โมร็อกโกจึงได้พัฒนาความเชี่ยวชาญด้านการฝึกอบรมและต้องการแบ่งปันต่อมิตรประเทศ ในส่วนของการมอบทุนให้นักศึกษาไทย จำนวน 15 ทุนต่อปีนั้น ทั้งฝ่ายไทยและโมร็อกโกสามารถหารือในรายละเอียดเกี่ยวกับการเพิ่มจำนวนทุนได้

ทั้งนี้ ขอขอบคุณไมตรีจิตและการต้อนรับที่ดีของกระทรวงศึกษาธิการไทย รวมถึงการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นการดำเนินงานตามบันทึกความเข้าใจฯ อย่างจริงจัง โดยโมร็อกโกก็จะเตรียมความพร้อมสำหรับการไปศึกษาดูงานเรื่องการฝึกอบรมที่โมร็อกโก ตลอดจนจะเร่งดำเนินการเรื่องการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อดำเนินงานโครงการต่าง ๆ ร่วมกันต่อไป

DSC 5515

สำหรับการประชุมในครั้งนี้ มีผู้แทนจากฝ่ายโมร็อกโกนำเสนอรายละเอียดความร่วมมือระหว่างไทยและโมร็อกโก อาทิ Mr Mohamed Tahiri, Director General of Higher Education ได้เสนอความร่วมมือด้านการศึกษากับประเทศไทย เช่น การแลกเปลี่ยนนักศึกษาและคณาจารย์, การพัฒนาหลักสูตรปริญญาโท, การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนในระบบ e-Learning, การจัดการเรียนการสอนหลักสูตรปริญญาเอกผ่านระบบออนไลน์และการมีอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ และการพัฒนาครูอาจารย์ให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศและการเผชิญกับโลกอนาคต

Mr Abdelouahid Ezzarfi, Director of Division in Charge of Coordination of Research เสนอความร่วมมือด้านการวิจัย วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ระหว่างไทยและโมร็อกโก อาทิ การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารประสบการณ์ด้านวิจัยและนวัตกรรม, ความสำเร็จในการร่วมมือกับต่างประเทศและภาคเอกชน, การสร้างเครือข่ายระหว่างสถาบันการศึกษา การวิจัยเฉพาะเรื่อง และศูนย์วิจัย, การสร้างเครือข่ายนักวิจัยและนักศึกษาปริญญาเอก, การแลกเปลี่ยนการเยือนของผู้บริหารด้านการวิจัย เป็นต้น

อนึ่ง การประชุมในครั้งนี้มีแขกผู้มีเกียรติจากหลายหน่วยงานเข้าร่วมประชุม อาทิ พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, H.E. Mr Abdelilah El Housni เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรโมร็อกโกประจำประเทศไทย, พล.อ.วิษณุ ศรียะพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สพฐ., นายประชาคม จันทรชิต รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ, นางสาวนงศิลินี โมสิกะ ผู้อำนวยการสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, ผู้แทนจากมหาวิทยาลัยศิลปากรและมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นต้น

DSC 5441DSC 5488DSC 5490DSC 5557DSC 5593DSC 5615DSC 5633

******************************************************************

ภาพ / ข่าว โดย สำนักงานรัฐมนตรี
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
25 พฤศจิกายน 2561