Loading color scheme

การประชุมเสวนา สะพานเชื่อมโยงไปสู่อนาคตอันสดใส : การจัดการศึกษาโดยใช้ภาษาแม่ สำหรับเด็กชาติพันธุ์ในประเทศไทย

UNI 1

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ โศภณ นภาธร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเพื่อนำเสนอรายงาน “Bridge to a Brighter Future: A Forum Promoting Mother Tongue-Based Multilingual Education for Ethnic Minority Children in Thailand” เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2561 ณ ห้องประชุมหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล กระทรวงศึกษาธิการ

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ โศภณ นภาธร กล่าวในพิธีเปิดตอนหนึ่งว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้ด้อยโอกาสอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีได้ทรงเน้นการปลูกฝังนักเรียนให้อนุรักษ์วัฒนธรรมอันเป็นรากเหง้าเอาไว้ เพื่อให้เด็กเหล่านั้นเกิดความภูมิใจในภูมิปัญญาท้องถิ่นของตน ทั้งนี้ ปัญหาด้านภาษาถือเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งในการเข้าถึงการเรียนรู้ โดยเฉพาะเด็กชาติพันธุ์ ดังนั้น การจัดการเรียนการสอนแบบทวิ-พหุภาษาศึกษา จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้เด็กเหล่านั้นมีโอกาสเข้าถึงระบบการศึกษา การพัฒนาทักษะ และเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาได้ ตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จคือ โครงการการจัดการศึกษาแบบทวิ-พหุภาษาโดยใช้ภาษาแม่เป็นฐานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้รับรางวัล UNESCO King Sejong Literacy Prize เมื่อปี 2559 รวมถึงการยอมรับจากหน่วยงานและองค์การระหว่างประเทศอีกมากมาย

S 16646284

กระทรวงศึกษาธิการมีความยินดีที่จะสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนแบบทวิ-พหุภาษาศึกษาอย่างเต็มที่ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการบรรลุเป้าหมายการศึกษาเพื่อปวงชน และสร้างความเท่าเทียมแก่เด็กทุกคนให้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาประเทศไทย 4.0 ที่จะช่วยลดช่องว่างโอกาสทางการศึกษาของเด็กในถิ่นทุรกันดาร สร้างความมั่งคั่ง และสันติสุข พร้อมกันนี้ ได้ขอบคุณยูนิเซฟ มหาวิทยาลัยมหิดล รวมทั้งหน่วยงานงานต่างๆ ที่มีส่วนร่วมในการผลักดันโครงการจัดการเรียนการสอนแบบทวิ-พหุภาษาศึกษา และร่วมกันสร้างอนาคตด้านการศึกษาที่สดใสของเด็กไทยต่อไป

การประชุมครั้งนี้ จัดโดยองค์การยูนิเซฟแห่งประเทศไทยร่วมกับสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย เป็นสื่อในการเรียนการสอน สำหรับเด็กชาติพันธุ์ในประเทศไทย ตั้งแต่ระดับปฐมวัยและประถมศึกษา ผ่านผลงานการถอดบทเรียนการจัดการศึกษาแบบทวิ–พหุภาษา โดยใช้ภาษาแม่เป็นฐาน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเด็กและเยาวชนในประเทศไทย

S 16646283

S 16646286

********************************************

สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
7 กันยายน 2561