Loading color scheme

การประชุมคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) แบบออนไลน์

Online meeting with the National Commissions1 30 4 2563

          เมื่อวันพุธที่ 29 เมษายน 2563 เวลา 13.00 น. ตามเวลากรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส (หรือเวลา 18.00 น. ตามเวลาประเทศไทย) องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้จัดการประชุมคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) แบบออนไลน์ หรือ Online meeting with the National Commissions โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการดำเนินงานระหว่างยูเนสโกและประเทศสมาชิกในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ค.ศ. 2019 หรือ COVID-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อด้านการศึกษา สุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมไปทั่วโลกในขณะนี้ ซึ่งในการประชุมออนไลน์ดังกล่าวมีผู้แทนจากประเทศสมาชิกเข้าร่วมรับฟังกว่า 200 คน ในส่วนของประเทศไทยนั้น นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ เป็นผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมการประชุม และกล่าวถ้อยแถลงเกี่ยวกับการดำเนินงานของไทยทั้งในภาพรวม และภายใต้กรอบงานยูเนสโก

Online meeting with the National Commissions 30 4 2563

          การประชุมเริ่มขึ้นโดยนาย Firmin Edouard Matoko ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโกด้าน Priority Africa and External Relations กล่าวต้อนรับผู้แทนประเทศสมาชิก การประชุมประกอบด้วย การนำเสนอข้อริเริ่มการดำเนินการของยูเนสโกเพื่อรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 การรายงานแนวทางการดำเนินงานของยูเนสโกในสาขา/โปรแกรมต่างๆ ได้แก่ การพัฒนาแอฟริกา (Global Priority Africa) ความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย (Global Priority Gender Equality) การศึกษา (Education Sector) วัฒนธรรม (Culture Sector) สังคมศาสตร์ (Social and Human Sciences Sector) สื่อสารมวลชน (Communication and Information Sector) วิทยาศาสตร์ (Natural Sciences Sector) และสมุทรศาสตร์ (Intergovernmental Oceanographic Commission) และการกล่าวถ้อยแถลงของประเทศสมาชิกเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง โดยยูเนสโกให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการปิดโรงเรียนและการเข้าถึงการเรียนแบบออนไลน์ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีแนวโน้มเกิดความเหลื่อมล้ำได้ง่าย เช่น เด็กหญิงและสตรี กลุ่มเด็กที่อยู่ห่างไกล มีข้อจำกัดในการใช้เทคโนโลยีและสื่อออนไลน์ ปัญหาเด็กตกหล่นหรือหยุดเรียนกลางคันภายหลังสถานการณ์ COVID-19 เป็นต้น ในส่วนของการดำเนินงานตามสาขาต่างๆ ยูเนสโกมีแนวทางและมาตรการทั้งระยะสั้นและระยะยาวเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 เช่น การช่วยเหลือศิลปินและแหล่งมรดกโลกในช่วงการระบาดของ COVID-19 การส่งเสริมความหลากหลายทางวัฒนธรรมเพื่อให้เกิดความเข้าใจและภูมิปัญญาของแต่ละท้องถิ่น ไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติ การสร้างความเข้มแข็งระหว่างความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และจริยธรรม การส่งเสริมเสรีภาพของสื่อเพื่อให้เข้าถึงข้อมูลความรู้ การส่งเสริมงานวิจัยและความรู้โดยใช้วิทยาการแบบเปิด (Open Science) การใช้เทคโนโลยีเพื่อให้เข้าถึงสื่อการเรียนการสอนออนไลน์ การส่งเสริมระบบนิเวศวิทยา สิ่งแวดล้อม และ Green Economy เป็นต้น

          นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวถ้อยแถลงเกี่ยวกับการดำเนินงานในภาพรวมของประเทศไทยเกี่ยวกับการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ว่า ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น แต่มีการเตรียมความพร้อมในการรับมือทันที จึงประสบความสำเร็จในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ โดยนายกรัฐมนตรีได้หารือร่วมกับทีมแพทย์ด้านไวรัสวิทยา จากนั้น จึงเกิดมาตรการและข้อกำหนดต่างๆ เช่น พระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน การก่อตั้งศูนย์เฉพาะกิจการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสด้วย แม้ว่าการแพร่ระบาดของ COVID-19 จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง เกิดการดำเนินชีวิตปกติในรูปแบบใหม่ (New Normal) ประเทศไทยยังคงให้ความสำคัญกับภาคการศึกษา และมีมาตรการและแนวทางการดำเนินการเพื่อให้การเรียนการสอนยังคงดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องและมีคุณภาพ โดยโรงเรียนได้ขยายเวลาปิดเทอมไปจนถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 และไม่มีการปิดเทอมระหว่างภาคเรียนที่ 1 เพื่อชดเชยเวลาเรียนให้ครบ อีกทั้งยังมีการพัฒนาการเรียนออนไลน์ โดยมีการพัฒนาจัดทำสื่อการเรียนโทรทัศน์แบบทางไกลทั่วประเทศเพื่อให้ผู้เรียนเข้าถึงเนื้อหาการเรียนได้ ทั้งนี้ ผู้เรียน ครู และผู้ปกครองจะต้องพัฒนาทักษะด้าน ICT โดยมีหน่วยงานภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนเครื่องมือและระบบสำหรับติดตามการเรียนการสอนที่เหมาะสม นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้ปรับเปลี่ยนงบประมาณให้มากขึ้นเพื่อพัฒนาหลักสูตร การสอนแบบออนไลน์ และเครื่องมือ ICT เพื่อให้เกิดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งการสนับสนุนและให้ความร่วมมือกับยูเนสโกในการดำเนินการภายใต้ UNESCO’s initiative on the COVID-19 Global Education Coalition นอกจากด้านการศึกษาแล้ว ไทยยังสนับสนุนกรอบการดำเนินงานของยูเนสโกภายใต้ Future Literacy เช่นกัน เนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตทุกด้าน ดังนั้น ประชาชนจึงควรมีความรู้เพื่อสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้ ซึ่งยูเนสโกมีแผนที่จะจัดการประชุม UNESCO Ministerial Summit on Futures Literacy จึงเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศสมาชิกต่างๆ จะได้แลกเปลี่ยนแนวคิดเรื่องการพัฒนาความรู้และทักษะเพื่อเตรียมพร้อมรับความท้าทายและวิกฤตในอนาคต

          ในส่วนของประเทศสมาชิกอื่นๆ ได้แสดงความคิดเห็นและการรับมือภายใต้สถานการณ์ COVID-19 โดยสนับสนุนการเรียนออนไลน์มากขึ้น และเสนอแนะให้ยูเนสโกพิจารณาแผนยุทธศาสตร์ระยะกลาง (C/4) และโครงการและงบประมาณ (C/5) ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งยูเนสโกก็พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศสมาชิกทั้งด้านวิชาการและทางเทคนิคต่างๆ เพื่อให้กิจกรรมและโครงการภายใต้ยูเนสโกได้ดำเนินต่อไป

****************************************************

สรุปและเรียบเรียง : รัชนินท์ พงศ์อุดม
สุปราณี คำยวง
ข้อมูล/ภาพประกอบ : กลุ่มความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ
รายงานโดย : กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
ข้อมูล ณ วันที่ : 30 เมษายน 2563