Loading color scheme

มกุฎราชกุมารแห่งบรูไนดารุสซาลามเสด็จเปิดการประชุมสภารัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 53

53rd SEAMEO 1 7 2568

          เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2568 เจ้าชายฮัจญีย์ อัลมุห์ตาดี บิลละห์ มกุฎราชกุมารแห่งบรูไนดารุสซาลาม ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมสภารัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือสภาซีเมค ครั้งที่ 53 (53rd SEAMEO Council Conference 2025) ณ โรงแรม The Empire Brunei บันดาร์เสรีเบกาวัน บรูไนดารุสซาลาม ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-3 กรกฎาคม 2568

53rd 1 SEAMEO 1 7 2568

          การประชุมสภาซีเมค ครั้งที่ 53 ครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “Greening Education for a Sustainable Southeast Asia: Empowering Change Through Collective Action” ซึ่งผู้นำระดับรัฐมนตรีด้านการศึกษาจากประเทศสมาชิกองค์การซีมีโอทั้ง 11 ประเทศได้ร่วมกล่าวแสดงวิสัยทัศน์ที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนการศึกษาเพื่อความยั่งยืนสีเขียว หรือ Green Education ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในช่วงการประชุมโต๊ะกลมเชิงยุทธศาสตร์ระดับรัฐมนตรีศึกษาของซีมีโอ ครั้งที่ 7 (7th Strategic Dialogue Education Ministers SDEM-Roundtable Discussion) ผ่านความร่วมมือกับประเทศสมาชิก สมาชิกสมทบ และหน่วยงานสมทบ และศูนย์ระดับภูมิภาคด้านการศึกษาขององค์การซีมีโอทั้ง 25 ศูนย์ และ 1 เครือข่าย

53rd 2 SEAMEO 1 7 2568

          ในโอกาสนี้ นางสาวบุศรา กาญจนาลัย เอกอัครราชทูต ณ บันดาร์เสรีเบกาวัน ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยได้กล่าวในนามของกระทรวงศึกษาธิการ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนการศึกษาเพื่อความยั่งยืนสีเขียว หรือ Green Education ของประเทศไทย ซึ่งได้มีการดำเนินการผ่านการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) ที่บูรณาการสู่นโยบายระดับชาติและหลักสูตรการศึกษา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 สร้างความเชื่อมโยงระหว่างโรงเรียนกับชุมชนและความร่วมมือกับภาคีทั้งในประเทศและต่างประเทศมีการดำเนินโครงการและกิจกรรมสำคัญ อาทิ โครงการโรงเรียนเชิงนิเวศ (Eco-Schools Project) ที่ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) และมูลนิธิสิ่งแวดล้อมศึกษา (FEE) โดยมุ่งเน้นประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดการขยะ และความหลากหลายทางชีวภาพ ในหลักสูตรการศึกษา พร้อมส่งเสริมให้เยาวชนริเริ่มความคิดและลงมือแก้ปัญหาในชุมชนของตนเอง โครงการ Green School ที่ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อส่งเสริมภาวะผู้นำ การเติบโตส่วนบุคคล และจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมในเยาวชน การส่งเสริมกิจกรรมลูกเสือ เพื่อปลูกฝังจิตอาสา ความรับผิดชอบต่อสังคมและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สำหรับการดำเนินการในอนาคต นอกจากนี้ประเทศไทยยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการรู้เท่าทันดิจิทัล โดยร่วมมือกับ Huawei และ UNESCO ภายใต้โครงการ Green Education Initiative เพื่อสร้างโรงเรียนที่ส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในทุกพื้นที่ โดยมุ่งมั่นขับเคลื่อนการศึกษาเพื่อสิ่งแวดล้อม และพร้อมร่วมมือกับทุกภาคีในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนร่วมกันในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

53rd 3 SEAMEO 1 7 2568

          การประชุมสภาซีเมค ครั้งที่ 53 เป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านการศึกษาของประเทศสมาชิกองค์การซีมีโอทั้ง 11 ประเทศ เพื่อติดตามความก้าวหน้าผลสำเร็จ แก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินกิจกรรมและโครงการ อนุมัติงบประมาณ รวมถึงร่วมกันกำหนดนโยบาย และแนวทางในการพัฒนาศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมระหว่างประเทศสมาชิก ที่จะนำไปสู่การพัฒนาการศึกษาของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอนาคต ซึ่งการประชุมครั้งนี้ประกอบด้วยการประชุมวาระพิเศษ (Special session)การประชุมโต๊ะกลมเชิงยุทธศาสตร์ระดับรัฐมนตรีศึกษาของซีมีโอ ครั้งที่ 7 (7th Strategic Dialogue Education Ministers SDEM-Roundtable Discussion) และการประชุมเต็มคณะ (Plenary Session) ทั้งนี้สำนักงานเลขาธิการองค์การซีมีโอได้นำเสนอความคืบหน้าการดำเนินโครงการและกิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่ 1) โครงการวัดผลการเรียนรู้ระดับประถมศึกษาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA-PLM) 2) โครงการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล ที่จัดทำโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) 3) โครงการความร่วมมือระหว่างสหราชอาณาจักรและอาเซียน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการศึกษาและการพัฒนาของผู้หญิงและเด็กผู้หญิงในอาเซียน (ASEAN UK SAGE) และ 4) โครงการพัฒนาความเป็นเลิศและการให้คำปรึกษา ด้านการวิจัยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA DREAM) ซึ่งการประชุมครั้งนี้นางสาวบุศรา กาญจนาลัย เอกอัครราชทูต ณ บันดาร์เสรีเบกาวัน พร้อมด้วยคณะผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ ประกอบด้วยนางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ ที่ปรึกษาพิเศษด้านความร่วมมือต่างประเทศของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นางสาวจิตรลดา จันทร์แหยม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งเจ้าหน้าที่สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว

สรุป / เรียบเรียง : กนกวรรณ แกว่นถิ่นภู
กุสุมา นวพันธ์พิมล
กลุ่มความร่วมมือระดับภูมิภาค
รายงานโดย : กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
1 กรกฎาคม 2568