ข่าวสารกิจกรรม
ประเทศไทยพร้อมขับเคลื่อนการศึกษาผ่านการประชุมสภารัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 53
เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2568 นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ ที่ปรึกษาพิเศษด้านความร่วมมือต่างประเทศของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้นำคณะผู้แทนไทยประกอบด้วย นางสาวจิตรลดา จันทร์แหยม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งเจ้าหน้าที่สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมสภารัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือสภาซีเมค ครั้งที่ 53 (53rd SEAMEO Council Conference 2025) ณ โรงแรม The Empire Brunei บันดาร์เสรีเบกาวัน บรูไนดารุสซาลาม ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-3 กรกฏาคม 2568
ในโอกาสนี้นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ ได้แสดงความยินดีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการแห่งบรูไนดารุสซาลาม ที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาซีเมคและประธานการประชุมในครั้งนี้ รวมถึงประเทศเวียดนามที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งรองประธานฯ พร้อมกันนี้ ได้ร่วมเป็นสักขีพยานการเปิดตัว “แผนการศึกษาเพื่อสิ่งแวดล้อม” ของบรูไนดารุสซาลาม ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นระดับภูมิภาคในการส่งเสริมการเรียนรู้ที่มุ่งเตรียมผู้เรียนให้พร้อมสำหรับอนาคต ทั้งในด้านความรู้ ทักษะ ค่านิยม และทัศนคติ เพื่อรองรับการพัฒนาอย่างยั่งยืน และการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจดิจิทัล การประชุมสภาซีเมคในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสอันดีในการทบทวนความก้าวหน้า ร่วมกันต่อยอดความร่วมมือ และยืนยันความมุ่งมั่นของทุกฝ่ายในการขับเคลื่อนการศึกษาให้สามารถรับมือกับความท้าทายในบริบทสากลได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้กล่าวถึงความพยายามในการเสริมสร้างและเตรียมความพร้อมในด้านการศึกษาเพื่ออนาคต ในด้านการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและยั่งยืนของทุกประเทศในการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจสีเขียว โดยในส่วนนโยบายด้านการศึกษาของประเทศไทยนั้นได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการจัดการศึกษาที่ครอบคลุมและทั่วถึง เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีใครถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง รวมถึงเด็กที่มีความต้องการพิเศษ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้ที่อยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก ซึ่งได้มีการขยายการเข้าถึงการศึกษาในรูปแบบออนไลน์ การพัฒนาทักษะดิจิทัลให้แก่ครู และการส่งเสริมรูปแบบการเรียนรู้แบบผสมผสาน โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลและพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเพียงพอ นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการประสานความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมผ่านการบูรณาการเนื้อหาของโลกปัจจุบันเข้าไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอน นอกเหนือจากความรู้ด้านดิจิทัลแล้วยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะผู้เรียนในด้านการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา ความสามารถในด้านการปรับตัว การทำงานร่วมกับผู้อื่น และทักษะในด้านการสื่อสาร ทั้งนี้ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดทำให้ต้องส่งเสริมแนวคิดของการเรียนรู้ตลอดชีวิตและความสามารถในการปรับตัวด้วย รวมถึงความร่วมมือในระดับนานาชาติก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการศึกษา ซึ่งประเทศไทยยังคงมุ่งมั่นในการแบ่งปันองค์ความรู้และความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเชื่อมั่นว่าความร่วมมือและนวัตกรรมที่มีจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม และสามารถใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญของศูนย์ระดับภูมิภาคขององค์การซีมีโอแต่ละแห่งในการส่งเสริมความร่วมมือให้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น การประชุมครั้งนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศสมาชิกได้ร่วมกันทบทวนความก้าวหน้า ฟื้นฟูความมุ่งมั่นในการทำงานร่วมกันและส่งเสริมความร่วมมือในระดับภูมิภาคให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายระดับโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งการศึกษายังคงเป็นหัวใจสำคัญของความพยายามในการฟื้นฟู พัฒนาและการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ ได้แสดงความขอบคุณอย่างจริงใจต่อกระทรวงศึกษาธิการแห่งบรูไนดารุสซาลาม สำหรับการต้อนรับอย่างอบอุ่น เต็มเปี่ยมไปด้วยไมตรีจิต และการจัดประชุมที่ยอดเยี่ยมในทุกด้านซึ่งส่งเสริมให้การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นสำคัญต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่อง “การส่งเสริมการศึกษาเพื่อสิ่งแวดล้อม” ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือในระดับภูมิภาคเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างรอบด้านของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การประชุมในปีนี้สะท้อนถึงพลังของความร่วมมือระดับภูมิภาค และศักยภาพของประเทศสมาชิกในการเผชิญกับความท้าทายร่วมด้านการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ มติและข้อเสนอแนะที่ได้จากการประชุมจะเป็นรากฐานอันมั่นคงสำหรับความก้าวหน้าในอนาคต พร้อมนี้ ได้กล่าวขอบคุณเลขาธิการซีมีโอ และทีมงานทุกฝ่ายที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความมุ่งมั่นและเป็นมืออาชีพ จนทำให้การประชุมเป็นไปอย่างราบรื่น พร้อมทั้งขับเคลื่อนพันธกิจขององค์การซีมีโอให้ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องในภูมิภาค ตลอดจนขอบคุณประเทศผู้บริจาคและสมาชิกสมทบทุกประเทศ สำหรับการสนับสนุนกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ประเทศไทยยังคงมุ่งมั่นและแสดงเจตจำนงในการร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับองค์การซีมีโอและประเทศสมาชิกทุกประเทศ เพื่อร่วมส่งเสริมระบบการศึกษาที่ครอบคลุม ทันสมัย และมีความยืดหยุ่น ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงและสร้างโอกาสให้แก่ผู้เรียนทุกคนในภูมิภาค พร้อมร่วมเดินหน้าไปด้วยความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ด้วยเป้าหมายและความมุ่งมั่นในการทำงานเพื่อให้บรรลุผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืนต่อไป
สรุป / เรียบเรียง : กนกวรรณ แกว่นถิ่นภู
กุสุมา นวพันธ์พิมล
กลุ่มความร่วมมือระดับภูมิภาค
รายงานโดย : กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
4 กรกฎาคม 2568