Loading color scheme

อุทยานธรณีสตูลได้รับรองเป็น UNESCO Global Geopark

อุทยานธรณีสตูลได้รับรองเป็น UNESCO Global Geopark

About Satun 2

     ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารของยูเนสโก ครั้งที่ 204 (204th session of UNESCO’s Executive Board) ณ องค์การยูเนสโก สำนักงานใหญ่ กรุงปารีส เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2561 ได้รับรองอุทยานธรณีใหม่จำนวน 13 แห่ง รวมทั้งอุทยานธรณีสตูล เป็น UNESCO Global Geopark

     “อุทยานธรณี”(Geopark) คือ พื้นที่ที่มีความสำคัญและโดดเด่นทางธรณีวิทยา ธรรมชาติวิทยา และวัฒนธรรม  มีเรื่องราวที่เชื่อมโยงคุณค่าของผืนแผ่นดินกับวิถีชีวิตชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยการอนุรักษ์ การถ่ายทอดความรู้ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน

     “อุทยานธรณีสตูล” (Satun Geopark) ตั้งอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทย ครอบคลุม 4 อำเภอของจังหวัดสตูล คือ ทุ่งหว้า มะนัง ละงู และอำเภอเมือง ลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาหินปูน มีเกาะน้อยใหญ่  และชายหาดที่สวยงาม นักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสกับธรรมชาติอันบริสุทธิ์ ความรุ่มรวยทางประวัติศาสตร์ และวิถีชีวิตผู้คนที่ผูกพันกับพื้นที่แห่งนี้ ผืนดินแห่งนี้ เป็นบันทึกหลักฐานของโลกใต้ทะเลเมื่อ 500 ล้านปีก่อน ที่อุดมไปด้วยสิ่งมีชีวิตยุคเก่า เกิดเป็นแหล่งสร้างออกซิเจนให้กับโลกในช่วงเวลานั้น ต่อมามีการยกตัวของเปลือกโลกก่อเกิดเป็นเทือกเขา และถ้ำ ซึ่งได้กลายเป็นบ้านหลังแรกของมนุษย์โบราณ ปัจจุบันผู้คนก็ยังดำรงชีวิตโดยใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของแผ่นดินนี้อยู่ และก่อเกิดเป็นวัฒนธรรมประเพณีที่มีเอกลักษณ์ ด้วยความโดดเด่นทางธรณีวิทยา ภูมิประเทศและธรรมชาติของอุทยานธรณีสตูล ก่อให้เกิดกิจกรรมการท่องเที่ยวทางธรรมชาติหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวแนวผจญภัย เช่น ล่องแก่ง ดำน้ำ เที่ยวถ้ำ การท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจที่น้ำตก ชายหาด รวมถึงเลือกซื้อของฝากผลิตภัณฑ์ชุมชน และสัมผัสวัฒนธรรมท้องถิ่นที่หลากหลาย (ข้อมูลจากเว็บไซต์ http://www.satun-geopark.com)

     เกณฑ์และตัวชี้วัดของยูเนสโกในการเป็น UNESCO Global Geopark ซึ่งประกอบด้วยคุณสมบัติหลัก
5 ด้าน ได้แก่ (1) การกำหนดขอบเขตพื้นที่อุทยานธรณีที่ชัดเจน รวมถึงการอนุรักษ์ทั้งในส่วนที่แสดงถึงมรดกทางธรรมชาติและมรดกทางวัฒนธรรม (2) โครงสร้างการบริหารจัดการที่มีแผนยุทธศาสตร์ครอบคลุมกิจกรรมหลัก เช่น การท่องเที่ยว การศึกษา การอนุรักษ์ เป็นต้น (3) ข้อมูลและการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เช่น ช่องทางการเผยแพร่ข้อมูล/ประชาสัมพันธ์ การให้ความรู้ผ่านโปรแกรมการศึกษาสำหรับนักเรียน
ในทุกระดับชั้น (4) การท่องเที่ยวเชิงอุทยานธรณี การจัดสรรสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว รวมถึงการเดินทาง และ (5) การส่งเสริมเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

     อุทยานธรณีสตูลเป็นตัวอย่างที่ดีในด้านการบริหารจัดการ เช่น การบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เริ่มจากชุมชนโดยแท้จริง (bottom-up process) ชุมชนมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึงและสร้างรูปแบบปฏิบัติที่ดีในการจัดการบริหารอุทยานธรณี ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรบริหารของภาครัฐและนักปกครองท้องถิ่น มีข้อมูลด้านวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์จากนักวิชาการ/อาจารย์ต่างๆ รวมถึงโรงเรียนและสถานศึกษาในระดับต่างๆ ให้ความร่วมมือในการส่งเสริมหลักสูตรอุทยานธรณีสตูล และให้ความรู้ด้านอาชีพที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ ทำให้ชุมชนมีความรักและหวงแหน และพร้อมที่จะอนุรักษ์แหล่งอุทยานธรณีสตูล
ทั้งนี้ อุทยานธรณีสตูลถือเป็นอุทยานธรณีของแห่งแรกของไทยที่ได้รับรองเป็น UNESCO Global Geopark โดยมีช่วงระยะเวลาระหว่างปี 2018 – 2021 จากนั้นจะมีกระบวนการขั้นตอนการประเมินทุก 4 ปี ต่อไป ขณะนี้ มีอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก จำนวน 140 แห่ง ใน 38 ประเทศทั่วโลก
https://en.unesco.org/news/13-sites-africa-asia-europe-and-north-america-receive-unesco-global-geopark-label

 

ชมภาพอุทยานธรณีแหล่งใหม่และอุทยานธรณีสตูล https://en.unesco.org/2018-global-geoparks-gallery

img041 vert

 

 

*******************************

 

 

เครดิตภาพ : www.satun-geopark.com
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
18 เมษายน 2561