Loading color scheme

ถ้อยแถลงร่วมเรื่องจริยธรรมเกี่ยวกับเอกสารยืนยันการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19

vaccine peterschreiber.media 5 7 2564

          องค์การยูเนสโก โดยคณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยชีวจริยธรรม (UNESCO International Bioethics Committee, IBC) และคณะกรรมาธิการโลกว่าด้วยจริยธรรมในความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (UNESCO World Commission on the Ethics of Scientific Knowledge and Technology, COMEST) ได้จัดทำถ้อยแถลงร่วมเรื่อง จริยธรรมเกี่ยวกับเอกสารยืนยันการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 และวัคซีนพาสปอร์ต (Joint Statement on the Ethics of COVID-19 Certificates and Vaccines Passports) ซึ่งหลายประเทศกำลังดำเนินการเพื่อเป็นการรับรองว่าบุคคลได้รับการฉีดวัคซีนหรือได้รับการติดเชื้อจนมีภูมิคุ้มกันและจะไม่เป็นพาหะแพร่เชื้อ อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อห่วงกังวลด้านจริยธรรมในการเข้าถึงวัคซีนและการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย โดยถ้อยแถลงได้กล่าวถึงประเด็นต่างๆ โดยสรุป ดังนี้

1) การเคารพสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 สามารถคืนสภาพสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ให้สามารถเคลื่อนย้าย/เดินทางได้อย่างอิสระ แต่ก็ไม่ควรละเมิดเสรีภาพด้านอื่น อาทิ สิทธิในการปฏิเสธการรับวัคซีนเนื่องจากเหตุผลส่วนบุคคล ศีลธรรม ความเชื่อทางศาสนา ข้อจำกัดทางอายุ สถานภาพทางการแพทย์ หรือความกังวลต่อผลข้างเคียงจากการรับวัคซีน

2) การหลีกเลี่ยงการแบ่งแยกและการเลือกปฏิบัติทางสังคม
เอกสารยืนยันการได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จะก่อให้เปิดการแบ่งแยกและการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมในสังคม สังคมเกิดความแตกแยกระหว่างผู้ที่มีและไม่มีเอกสารฯ

3) ความไม่แน่นอนทางวิทยาศาสตร์
ภูมิคุ้มกันจากการรับวัคซีนจะคงสภาพเพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากการรับวัคซีนแล้ว และการติดเชื้อภายหลังได้รับวัคซีนจำเป็นต้องได้รับการเข้ารักษาในโรงพยาบาล และวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงอาจหมดประสิทธิภาพได้หากเชื้อไวรัสเกิดการกลายพันธ์ และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันแล้วจากการได้รับเชื้อ ก็ไม่สามารถระบุได้ว่าภูมิคุ้มกันนั้นแข็งแกร่งเพียงใดหรือจะมีประสิทธิภาพในระยะยาวหรือไม่

4) ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ทุกคน รวมถึงผู้ที่ไม่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีหรือผู้ที่ไม่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ต้องได้รับการเข้าถึง เข้าใจ และสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่ออำนวยความสะดวกด้านเอกสารยืนยันการได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19

5) ความร่วมแรงร่วมใจในระดับนานาชาติ
การเข้าถึงวัคซีนนั้นในแต่ละประเทศนั้นไม่เท่าเทียม การกักตุนวัคซีนจะส่งผลให้เกิดความไม่เท่าเทียม ไม่ยุติธรรมในระดับสากล จึงจำเป็นต้องใช้ความพยายามระดับโลกเพื่อเพิ่มจำนวนการผลิตและกระจายวัคซีนให้ทั่วถึง

6) ความปลอดภัย ความมั่นคง และความน่าเชื่อถือ
เอกสารยืนยันการได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ควรระบุว่าบุคคลที่มีเอกสาร สามารถเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อในระดับน้อยได้หรือไม่ โดยรวมรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องนำมาประเมิน และต้องดำเนินการอย่างรัดกุม เก็บข้อมูลอย่างปลอดภัย หลีกเลี่ยงความเสี่ยงและการถูกจารกรรมข้อมูล

7) ความเป็นส่วนตัว
เอกสารยืนยันการได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในรูปแบบดิจิทัล ต้องมีเกณฑ์ในข้อจำกัดการเข้าถึงข้อมูล เพื่อคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของประชาชน

8) การพัฒนาอย่างยั่งยืน
เอกสารยืนยันการได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่การพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ เนื่องจากเกิดการเพิ่มจำนวนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ ทุกประเทศต้องร่วมมือกันจัดทำระบบนิเวศที่ยั่งยืน เพื่อป้องกันการเกิดโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คนที่จะนำมาสู่การแพร่ระบาดของเชื้ออีก

9) การประเมินความเสี่ยง ความโปร่งใส และความสำนึกรับผิดชอบ
ควรจัดทำโครงการเพื่อประเมินผลกระทบ ข้อจำกัด และประสิทธิภาพของเอกสารยืนยันการได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 และควรดำเนินการอย่างโปร่งใส โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสาธารณสุข

สรุปและเรียบเรียง : ธัญชิต ผดุงศุภไลย
รัชนินท์ พงศ์อุดม
สุปราณี คำยวง
ข้อมูล : กลุ่มความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ
รายงานโดย : กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
5 กรกฎาคม 2564