Loading color scheme

การแพร่ระบาดไปทั่วโลกของเชื้อโควิด-19: สะท้อนความเปราะบางของสังคมมนุษย์

Courier July September 2020

วิกฤติด้านสาธารณสุขเผยให้เห็นรอยร้าวที่แบ่งแยกสังคมของเรา อันได้แก่ ความไม่เท่าเทียมในสังคม ความรุนแรงทางเพศสภาพ ปัญหาที่อยู่อาศัย ระบบสุขภาพที่ล้มเหลว การจะทำให้โลกนี้เปลี่ยนแปลง เราจำต้องแก้ไขปัญหาอุปสรรคเหล่านี้ซึ่งเท่าที่ผ่านมาเราไม่เคยเผชิญหน้ากับมันอย่างจริงจัง 

กัลพนา ชาร์มา

นักข่าวอิสระ คอลัมนิสต์ และนักเขียนประจำที่เมืองมุมไบ หนังสือเล่มล่าสุดที่เธอเขียนชื่อ The Silence and the Storm: Narratives of violence against women in India

เมื่อมองด้วยตาเปล่าแลเห็นเรือประมงปรากฏเป็นจุดตรงเส้นขอบฟ้า คุณย่อมรู้ว่าบางสิ่งได้เปลี่ยนไป เมฆทะมึนที่เคยดูอบอ้าวอึดอัดลอยสลาย ท้องฟ้าสีสดใสอย่างที่คุณลืมไปแล้วหวนคืนกลับมา

ปี 2020 โลกเปลี่ยนไป โลกโดนเชื้อโรคใหม่ชื่อโคโรนาไวรัสกระแทกจนหายใจไม่ออก ยิ่งนานวันยิ่งไม่มีอะไรแน่นอน คนติดเชื้อและล้มตายกันมากขึ้น เราวิตกกังวลเรื่องงานและเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อย ๆ ขณะสู้รบกับโรคร้ายซึ่งยังไร้หนทางรักษา

ไม่มีอะไรเตรียมใครให้พร้อมรับสิ่งที่ไม่คาดฝันได้ แต่ถ้าจะมีสักบทเรียนหนึ่งซึ่งได้มาในครั้งนี้ นั่นก็คือทุกวันนี้ประเทศต่าง ๆ ที่ลงทุนด้านสาธารณสุขให้ครอบคลุมเข้าถึงได้ทั่วไปจะพร้อมรับมือกับวิกฤติด้านสาธารณสุขอันคาดไม่ถึงได้ดีที่สุด

เมื่อคำนึงถึงธรรมชาติของไวรัสชนิดใหม่นี้ซึ่งติดต่อง่ายรวดเร็วและเมื่อป่วยแล้วอาจถึงตาย เราคงคาดหวังว่าชาติต่าง ๆ และผู้คนในชาติจะร่วมมือกันต่อสู้เชื้อร้าย แต่น่าเศร้าที่ได้เห็นว่าเชื้อโควิด-19 กลับเผยรอยแยกซึ่งดำรงอยู่ในสังคมมนุษย์ของเราทั้งมวล

เผยให้เห็นรอยแยก

ในยามที่เชื้อไวรัสไม่เลือกหน้าว่าจะติดใคร สังคมเรายังคงแบ่งแยกผู้คนในสังคมบนพื้นฐานของเจตคติต่อ ‘คนอื่น’ ซึ่งฝังรากลึกมาแต่เดิมไม่ว่าจะเป็นผู้คนจากศาสนาอื่นหรือสัญชาติอื่น โรคระบาดไม่อาจลบเลือนอคติและความเกลียดชัง น่าเศร้าที่มันกลับมีแนวโน้มจะซ้ำเติมให้สถานการณ์แย่ลงกว่าเดิม

รอยแยกอีกอย่างที่เผยให้เห็นคือความไม่เท่าเทียม ในวิกฤติครั้งนี้เราได้เห็นสิ่งที่โตมาส์ ปิเกตตี นักเศรษฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศสเรียกว่า “ความรุนแรงแห่งความไม่เท่าเทียม” คนชั้นล่างสุดซึ่งไร้มาตรการช่วยเหลือทางสังคมก็ยังเป็นพวกที่ต้องดิ้นรนให้รอดอยู่ได้ตามเคยในห้วงยามที่โรคร้ายระบาดไปทั่วโลกเช่นนี้

ฤดูใบไม้ผลิปี 2020 ในอินเดีย “ความรุนแรงแห่งความไม่เท่าเทียม” นี้เห็นเด่นชัดอย่างน่าสลดใจ เมื่อประเทศซึ่งมีพลเมือง 1.3 พันล้านคนประกาศล็อกดาวน์เพื่อป้องกันเชื้อโควิด-19 แพร่ระบาด เมื่อเศรษฐกิจหยุดชะงัก ชายหญิงนับพันหมื่นซึ่งถูกทิ้งให้เคว้งคว้างในเมืองใหญ่ที่พากันอพยพมาหางานทำเลี้ยงชีพก็พลันตกงาน พวกเขาไม่มีเงินทองหรือมาตรการช่วยเหลือทางสังคมใด ๆ รองรับจึงไม่มีทางเลือก นอกจากการเดินเท้านับร้อย ๆ กิโลเมตรเพื่อกลับสู่บ้านในชนบท

คนเหล่านี้ย่ำเท้าฝ่าความร้อนโดยแทบจะไม่มีอาหารหรือน้ำกิน บางส่วนรอดชีวิตแต่ที่ตายไประหว่างทางก็มาก ภาพการอพยพกลับชนบทครั้งมโหฬารนี้คือประจักษ์พยานฟ้องให้เห็นว่ารูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจอันไม่เป็นธรรมยิ่งซ้ำเติมความยากลำบากของพวกเขามากเพียงใดในภาวะฉุกเฉินเช่นนี้

รอยแยกอย่างที่สามซึ่งกระจายอยู่ทั่วทุกสังคม แต่โดดเด่นขึ้นมาในยามวิกฤติก็คือเรื่องเพศสภาพ ผู้หญิงถูก “ปิดขัง” ไว้กับคนที่รังแกพวกเธอโดยแทบไม่มีทางหลีกหนีได้ ทว่าปรากฏการณ์เช่นนี้กลับไม่ได้รับความใส่ใจเท่าที่ควร หรือเป็นเพราะว่าการล่วงละเมิดสิทธิ์ของผู้หญิงนับล้าน ๆ คนทั่วโลกอย่างนี้เกิดขึ้นแม้ในยามที่เรียกกันว่า “ปกติ”?

คนจนในเมือง

ในหลายประเทศ โควิด-19 กระทบแรงที่สุดในพื้นที่เขตเมือง เชื้อชนิดนี้แพร่กระจายรวดเร็วในหมู่คนยากจนในเมืองซึ่งอาศัยอยู่ในสภาพแออัดที่มักไม่ถูกสุขอนามัย ผู้อาศัยในสภาพดังกล่าวย่อมไม่ค่อยมีโอกาสรอดพ้นจากโรคระบาดนี้เมื่อนึกถึงการดูแลด้านสาธารณสุขที่ย่ำแย่ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่ยากจนมากที่สุด

ว่าไปแล้วคนเหล่านี้ก็คือผู้ที่ค้ำจุนเมืองเอาไว้ คือผู้ทำงานดูแลรักษา ทำงานบริการ ทำงานก่อสร้าง ทำธุรกิจขนาดเล็ก ช่วยทำงานบ้าน ช่วยดูแลคนเจ็บป่วยคนชรา และอื่น ๆ อีกมาก ส่วนใหญ่รายได้น้อยและพักอาศัยในย่านที่สภาพแย่แออัดของเมืองซึ่งไม่มีน้ำประปาและไม่ค่อยมีหรือขาดสุขอนามัย

ในชุมชนลักษณะนั้นย่อมไม่อาจใช้วิธีเว้นระยะห่างทางสังคมเพื่อควบคุมไม่ให้เชื้อโควิด-19 แพร่ระบาดได้ เพราะคนจนในเมืองไม่มีพื้นที่ว่างพอจะเว้นระยะห่างจากกันและกัน การขาดน้ำประปาก็ทำให้มาตรการรักษาความสะอาด เช่นล้างมือบ่อย ๆ และทำความสะอาดฆ่าเชื้อพื้นผิวต่าง ๆ เป็นไปไม่ได้

การจัดสรรที่อยู่อาศัยราคาถูกแทบไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญสำหรับเมืองใหญ่ ๆ ผลที่ตามมาจึงเป็นสิ่งซึ่งเราเห็นอยู่ในขณะนี้ คือผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นท่วมท้นในบางพื้นที่ซึ่งยากจนและแออัดที่สุดตามเมืองใหญ่ ไม่ว่าที่เมืองมุมไบหรือในนครนิวยอร์ก

ข่าวดีวูบเดียว

สุดท้ายขอย้อนกล่าวถึงเรื่องอากาศสะอาดในเมือง รายงานชิ้นสำคัญขององค์กรพลังงานสากล (IEA) คือ Global Energy Review 2020 ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนเมษายน ระบุว่าตัวเลขการปล่อยก๊าซคาร์บอนของปีนี้ลดลงเกือบ 8% นี่เป็นข่าวดี เสียแต่ว่ามันคือผลพวงจากวิกฤติร้ายแรง ไม่ใช่ผลจากการแก้ไขจัดการอันตรายแท้จริงของปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

โควิด-19 เปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่างก็จริง ทว่าเหมือนไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรเลย เพราะเมื่อวิกฤตินี้ผ่านพ้นไป แทบไม่มีอะไรบ่งชี้ว่าวิถีชีวิตสุรุ่ยสุร่ายแบบเดิมจะไม่หวนกลับมา เช่นเราแทบไม่เห็นหลักฐานว่ามีแผนการรูปธรรมใด ๆ ที่มุ่งจัดระเบียบเมืองเสียใหม่อย่างถาวร เพื่อให้คนจนอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี หรือว่าให้ความสำคัญในลำดับต้น ๆ ต่อการขนส่งสาธารณะแบบไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

หนทางข้างหน้ายังมีอุปสรรคอยู่มากมาย ประการแรกเริ่มจากระบบดูแลสุขภาพพื้นฐานโดยรวมของสังคม ประเทศ รัฐ และจังหวัดต่าง ๆ ภายในประเทศซึ่งเอาตัวรอดจากวิกฤตินี้ได้ดีก็คือกลุ่มที่ได้ลงทุนทำให้งานสาธารณสุขมีคุณภาพ

ประการที่สองได้แก่ การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่แฝงฝังในสังคม แม้กระทั่งระบบดีที่สุดก็ย่อมล้มเหลวในสังคมที่ไม่เสมอภาค แน่นอนว่านี่เป็นโครงการระยะยาวซึ่งจัดการไม่ได้ในชั่วข้ามคืน ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศที่เศรษฐกิจแข็งแกร่งหรืออ่อนแอ หากมีความไม่เสมอภาคเชิงระบบมันก็จะเผยตัวระหว่างวิกฤติโดยทำลายบรรดาผู้ที่ด้อยโอกาสและเปราะบางอยู่แล้ว

มหาตมะคานธีเคยกล่าวไว้ว่า “โลกนี้มีทรัพยากรเพียงพอสำหรับความจำเป็นของทุกคน แต่ไม่พอสำหรับความละโมบของทุกคน” ทว่าความโลภโมโทสันนั่นเองที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของเรา เมื่อเส้นแบ่งเขตแดนสูญเสียความหมายในสภาพซึ่งทั่วโลกเร่งสนองความอยากมีอยากได้ไม่รู้จักอิ่มตามครรลองของลัทธิบริโภคนิยม รวมทั้งคุกคามอนาคตของโลกใบนี้ เพราะใช้ทรัพยากรธรรมชาติแบบล้างผลาญชนิดไม่มีทางทดแทนได้

โควิด-19 บังคับเราให้ชะลอการใช้ชีวิตให้ช้าลง แต่เมื่อเอาชนะวิกฤติครั้งนี้ได้สำเร็จแล้ว เราจะได้เห็นระเบียบโลกใหม่ไหม? เราจะตระหนักหรือไม่ว่าชีวิตความเป็นอยู่ของคนนับล้าน ๆ ยังไม่มั่นคงปลอดภัย? เราจะฟังเสียงผู้หญิงและเสียงผู้คนที่ด้อยโอกาสมากที่สุดไหม เมื่อธุรกิจกลับมาขับเคลื่อนไปตามปกติ?

ไม่มีคำตอบไหนง่าย แต่เราถามได้ และต้องตั้งคำถาม แล้วบางทีก็ต้องมีความหวัง

โดย กัลพนา ชาร์มา

แปลโดย นุชนาฏ เนตรประเสริฐศรี

รายงานโดย กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ

ติดตามอ่านข้อมูลต่าง ๆ ที่น่าสนใจได้ที่ "วารสารความร่วมมือกับต่างประเทศ"

21 เมษายน 2564