Loading color scheme

การประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การยูเนสโก ครั้งที่ 209

209th of the Executive Board 9 7 2563

องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโกจัดการประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การยูเนสโก ครั้งที่ 209 (209th Session of the Executive Board) ระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน – 10 กรกฎาคม 2563 ณ สำนักงานใหญ่ องค์การยูเนสโก ซึ่งการประชุมคณะกรรมการบริหารเป็นการประชุมสำคัญที่ให้ประเทศสมาชิกของคณะกรรมการทั้ง 58 ประเทศ ได้ร่วมประชุมเพื่อพิจารณาแผนงาน โครงการ งบประมาณ และวาระอื่นๆ ของยูเนสโก โดยจะจัดการประชุม 2 ครั้งต่อปี และเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด –19 จึงทำให้หลายประเทศมอบหมายคณะผู้แทนถาวรประจำองค์การยูเนสโกเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวแทน ทั้งนี้ มีการถ่ายทอดการประชุมผ่านทาง webcast ของยูเนสโก เพื่อให้ผู้แทนประเทศสมาชิกจากเมืองหลวง (Capital) สามารถร่วมรับฟังการประชุมได้

209th Session of the Executive Board2 9 7 2563

ประเทศไทยในฐานะสมาชิกคณะกรรมการบริหารองค์การยูเนสโก (วาระระหว่างปี 2562 – 2566) มีผู้แทนหลักคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ) ในฐานะประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยยูเนสโก ได้มอบเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส (นายศรัณย์ เจริญสุวรรณ) ในฐานะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การยูเนสโก และรองผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การยูเนสโก (นายปราโมทย์ ด้วงอิ่ม) เข้าร่วมการประชุมข้างต้น ณ สำนักงานใหญ่ องค์การยูเนสโก

การประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การยูเนสโก ประกอบด้วย การประชุมเต็มคณะ (Plenary) การประชุมคณะกรรมการว่าด้วยอนุสัญญาและข้อเสนอแนะ ข้อเสนอแนะ (Committee of Conventions and Recommendations – CR) การประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยโครงการและความร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ (Programme and External Relations Commission – PX) การประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยงบประมาณและการบริหาร (Financial and Administrative Commission – FA) การรายงานผลการประชุมและการประชุมคณะกรรมการร่วมต่างๆ

209th Session of the Executive Board1 9 7 2563

พิธีเปิดอย่างเป็นทางการเริ่มในวันที่ 2 กรกฎาคม 2563 กล่าวเปิดการประชุมโดย H.E. Mr. Agapito Mba Mokuy ประธานคณะกรรมการบริหารฯ ผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโก (Madam Audrey Azoulay) กล่าวรายงานการดำเนินงานของยูเนสโกที่ผ่านมา และมติจากที่ประชุมสมัยสามัญของยูเนสโกและคณะกรรมการบริหารองค์การยูเนสโกครั้งล่าสุด จากนั้นเป็นการกล่าวถ้อยแถลงของประเทศสมาชิก ซึ่งนายศรัณย์ เจริญสุวรรณได้กล่าวถ้อยแถลงในนามของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ สรุปใจความสำคัญว่า สถานการณ์โรคโควิด -19 ในประเทศไทย ไม่มีคนติดเชื้อภายในประเทศ 37 วันแล้ว (สถิติถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2563) แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังและปฏิบัติตามมาตรการที่เคร่งครัด จากการแพร่ระบาดโรคดังกล่าวส่งผลให้เกิดชีวิตวิถีแบบใหม่ หรือ New Normal ไปทั่วโลก การปิดโรงเรียนในหลายประเทศไม่เพียงส่งผลกระทบแก่นักเรียน ครู ผู้ปกครองและชุมชนเท่านั้น แต่อีกด้านแสดงให้เห็นถึงบทบาทความสำคัญของการนำเทคโนโลยีด้านการสื่อสาร (ICT) รวมถึงระบบดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในช่วงสถานการณ์ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีความท้าทายเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านั้นด้วยเช่นกัน ในด้านการศึกษาควรใช้โอกาสจากวิกฤตนี้ เพื่อพัฒนาระบบการศึกษาให้สอดคล้องกับบริบทชีวิตวิถีแบบใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการฝึกอบรมด้าน ICT แก่ครูและนักเรียน การส่งเสริมให้เด็กมีความรู้เรื่องผลกระทบของโรคโควิด -19 ทั้งในมิติทางสังคมและเศรษฐกิจ โดยยูเนสโกควรส่งเสริมให้รัฐบาลประเทศต่างๆ เผชิญหน้ากับปัญหาท้าทายนี้ผ่านการสนับสนุนเรื่องการเรียนทางไกล การใช้วิทยาการแบบเปิด (Open Science) และการแบ่งปันความรู้และวัฒนธรรม ในส่วนของบทบาท หน้าที่ของยูเนสโกนั้น ประเทศไทยสนับสนุนการดำเนินงานของยูเนสโกที่ตอบสนองเป้าหมายวาระปี ค.ศ. 2030 การพัฒนาที่ยั่งยืน (2030 Agenda for Sustainable Development) ซึ่งยูเนสโกเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานตามเป้าหมายที่ 4 (สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต) จึงควรเน้นการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและการเรียนรู้ตลอดชีวิต นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้สนับสนุนการศึกษาเพื่อการเป็นพลเมืองโลก (Global Citizenship Education) ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาอนาคตของการศึกษา ภายใต้แนวคิด Learning to Become ด้วย

ในส่วนของการพิจารณาร่างแผนยุทธศาสตร์ระยะกลาง (เอกสาร C/4) และแผนงานและงบประมาณ (เอกสาร C/5) ประเทศไทยสนับสนุนให้ยูเนสโกนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากการประชุมหารือระดับต่างๆ มาปรับแผนการดำเนินงาน การส่งเสริมบทบาทของสำนักงานระดับภูมิภาคให้ดำเนินงานได้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศสมาชิก การบูรณาการทำงานแบบข้ามสาขาและผสานระหว่างหน่วยงานให้เหมาะสมกับงบประมาณที่มีจำกัดและเป็นโครงการที่ตรงตามแผนงานในสาขาของยูเนสโก รวมถึงการส่งเสริมบทบาทของเยาวชนผ่านโครงการโรงเรียนเครือข่ายเพื่อความเข้าใจอันดี หรือ UNESCO Associated Schools Network (ASPnet) เพื่อเป็นกลไกในการพัฒนาให้เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมของยูเนสโกมากขึ้น

การประชุมในคณะกรรมาธิการต่างๆ จะดำเนินไปจนถึงวันที่ 10 กรกฎาคม 2563 โดยมีวาระที่สำคัญได้แก่ การติดตามการดำเนินการตามมติที่ประชุมสมัยสามัญของยูเนสโก ครั้งที่ 40 เมื่อปี 2562 โดยเฉพาะโปรแกรมและแผนงานสาขาต่างๆ เช่น ด้านการศึกษา The Futures of Education Initiative การดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ 4 การพัฒนาที่ยั่งยืน SDG 4 – Education 2030 และยุทธศาสตร์ด้านอาชีวศึกษาและการอบรม เป็นต้น ซึ่งผู้แทนไทยได้กล่าวถ้อยแถลงในการสนับสนุนการดำเนินงานภายใต้ข้อริเริมอนาคตด้านการศึกษา ยูเนสโกจะต้องใช้ศักยภาพแสดงบทบาทนำในการเป็นแหล่งองค์ความรู้ทางวิชาการอย่างเข้มแข็งเพื่อเป็นผู้นำด้านการศึกษาของโลก การส่งเสริมให้มีการหารือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านการศึกษาที่หลากหลายเพื่อให้สามารถรวมวิสัยทัศน์และแนวคิดมาพัฒนาและแก้ไขปัญหาท้าทายได้ตรงกับประเด็นด้านการศึกษา ทั้งนี้ การศึกษาผูกพันไปกับการพัฒนาด้านอื่นๆ และต้องตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ยูเนสโกจะต้องพัฒนาระบบการศึกษาแบบใหม่ที่สามารถตอบสนองกลุ่มบุคคลที่หลากหลายได้ รวมถึงจะต้องมีการทำวิจัยและระดมเครือข่ายด้านวิชาการที่มีอยู่ เช่น UNESCO Chairs ในการดำเนินการข้อริเริ่มอนาคตด้านการศึกษา

อนึ่ง การประชุมครั้งนี้ เอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส ในฐานะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การยูเนสโก และรองผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การยูเนสโก ได้ประสานกับรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์) ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยยูเนสโก และสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยยูเนสโก เกี่ยวกับท่าทีในแต่ละวาระ และการประชุมของคณะกรรมาธิการต่างๆ

**************************************************

ข้อมูลและภาพประกอบ : รัชนินท์ พงศ์อุดม
สุปราณี คำยวง
กลุ่มความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ
รายงานโดย : กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

9 กรกฎาคม 2563