Loading color scheme

การประชุมหารือออนไลน์ระดับอนุภูมิภาคระหว่างสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยยูเนสโก

Sub Regional Online 26 6 2563

          นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก เป็นประธานและเข้าร่วมการประชุมหารือระดับอนุภูมิภาคระหว่างสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยยูเนสโก เพื่อจัดเตรียมร่างยุทธศาสตร์ระยะกลาง และร่างแผนงานและงบประมาณของยูเนสโก (Sub-Regional Online Consultation of National Commissions for UNESCO on the Preparation of the Draft Medium-Term Strategy for 2022-2029 (41 C/4) and the Draft Programme and Budget for 2022-2025 (41 C/5) โดยยูเนสโกกำหนดจัดการประชุมระหว่างวันที่ 24-25 มิถุนายน 2563 แบบออนไลน์ มีผู้แทนจากสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยยูเนสโกประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สาธารณรัฐเกาหลี สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น และบางประเทศจากเอเชียใต้และเกาะขนาดเล็ก รวมถึงผู้แทนจากสำนักงานยูเนสโกระดับภูมิภาค/ประเทศ ได้แก่ กรุงเทพฯ จาการ์ตา ปักกิ่ง เวียดนาม และกัมพูชาเข้าร่วมการประชุม

Sub Regional Online3 26 6 2563

          การประชุมหารือดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อรวบรวมข้อมูลและข้อคิดเห็นจากประเทศสมาชิกสำหรับจัดเตรียมร่างยุทธศาสตร์ระยะกลาง (เอกสาร C/4) ระหว่างปี 2022-2029 และร่างแผนงานและงบประมาณของยูเนสโก (เอกสาร C/5) ระหว่างปี 2022-2025 การประชุมในวันแรกนั้น นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับการเลือกตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ประธานการประชุม โดยมีวาระสำคัญในการพิจารณาข้อคิดเห็นเพื่อจัดทำร่างยุทธศาสตร์ระยะกลางของยูเนสโก (เอกสาร C/4) ประกอบด้วยภารกิจและหน้าที่ของยูเนสโก กรอบการดำเนินงาน ประเด็นสำคัญที่เป็นปัญหาท้าทายของโลก การพัฒนาความร่วมมือกับหุ้นส่วนต่างๆ รวมถึงการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารของยูเนสโก การประชุมวันที่สอง (Dr. Shamsiah Zuraini Kanchanawati เลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยยูเนสโก บรูไนดารุซซาลาม ทำหน้าที่ประธาน) เป็นการพิจารณาและให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแผนงานและงบประมาณ (เอกสาร C/5) ทั้ง 5 สาขาของยูเนสโก ได้แก่ การศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ และสื่อสารมวลชน รวมถึงแผนงานด้านสมุทรศาสตร์

Sub Regional Online2 26 6 2563

          ในส่วนของประเทศไทย นายสมทรง งามวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะรองเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยยูเนสโก ได้กล่าวถึงภาพรวมกรอบการทำงานของยูเนสโกว่า สถานการณ์โลกปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและคาดเดาไม่ได้นั้น ยูเนสโกควรจัดลำดับความสำคัญในการดำเนินงานตามหน้าที่และภารกิจให้สอดคล้องกับทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด โดยยูเนสโกควรให้ความสำคัญกับบทบาทในเรื่องความร่วมมือระหว่างประเทศและการสร้างสันติภาพอย่างเข้มแข็ง ขณะเดียวกันก็เสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการในระดับประเทศด้วย ในส่วนของข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานของยูเนสโก และประเด็นที่คาบเกี่ยวกันนั้น นางสาวสุปราณี คำยวง หัวหน้ากลุ่มความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ ในฐานะผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยยูเนสโก ได้กล่าวว่า ควรสานต่อการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาสหประชาชาติหรือ 2030 Agenda for Sustainable Development เป็นให้เป็นกรอบการดำเนินงานของยูเนสโก โดยเฉพาะเป้าหมายที่ ๔ (สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต - Ensure inclusive and equitable quality education and promote lifelong learning opportunities for all) ซึ่งยูเนสโกเป็นเจ้าภาพหลัก อีกทั้งการส่งเสริมกิจกรรมต่างๆ ที่มุ่งเน้นเพื่อการบรรลุเป้าหมาย SDGs นอกจากนี้ ประเทศไทยสนับสนุนแผนงานของยูเนสโกด้านการพัฒนาแอฟริกา ความเสมอภาคทางเพศ และกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ ได้แก่ เยาวชน และกลุ่มประเทศที่เป็นเกาะแก่งขนาดเล็กที่พัฒนาน้อยที่สุด นอกจากนี้ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 และปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั่วโลก ประเทศไทยสนับสนุนการดำเนินงานภายใต้โครงการการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Education for Sustainable Development – ESD) และการศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองโลก (Global Citizenship Education) เพื่อรับมือกับเหตุการณ์ในปัจจุบัน ทั้งนี้ ประเทศไทยได้น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตเพื่อให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ในปัจจุบันได้ และยินดีที่จะแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีดังกล่าวเพื่อส่งเสริมเยาวชนผ่านกลไก เช่นเครือข่าย ASP ต่อไป

****************************************

สรุป/เรียบเรียง/ภาพประกอบ : รัชนินท์ พงศ์อุดม
สุปราณี คำยวง
กลุ่มความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ
รายงานโดย : กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
ข้อมูล ณ วันที่ : 26 มิถุนายน 2563