Loading color scheme

สรุปผลการจัดอบรมระยะสั้น หัวข้อ “Wellness for Aging Society” ระหว่างวันที่ 13 - 22 สิงหาคม 2562

สรุปผล
การจัดอบรมระยะสั้น หัวข้อ “Wellness for Aging Society”
ภายใต้โครงการทุนสนับสนุนนักเรียน นักศึกษาต่างประเทศเข้ามาศึกษาและฝึกอบรมในประเทศ
ระหว่างวันที่ 13 - 22 สิงหาคม 2562
ณ กรุงเทพมหานคร และจังหวัดพิษณุโลก
*******************

wellness for Aging Society

           1. ความเป็นมา
           ในโอกาสที่ประเทศไทยได้ดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในปี 2562 กระทรวงศึกษาธิการ จึงเห็นควรจัดสรรทุนสนับสนุนให้แก่นักศึกษาต่างชาติจากประเทศสมาชิกอาเซียนจำนวน 9 ประเทศ เพื่อเป็นการส่งเสริมการศึกษาสำหรับนักศึกษาต่างชาติในรูปแบบทุนการศึกษา ซึ่งเป็นกลไกสำคัญด้านการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในยุคโลกาภิวัตน์และเป็นประโยชน์ต่อการเข้าสู่โลกไร้พรมแดน ซึ่งนอกจากการได้รับความรู้ทางวิชาการ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือ การเรียนรู้วิถีชีวิต วัฒนธรรมระหว่างไทยกับนานาชาติแล้ว มหาวิทยาลัยของไทยที่มีศักยภาพยังได้มีการพัฒนาเพื่อรองรับนักศึกษาต่างชาติ และมีโอกาสในการก้าวเข้าสู่ความเป็นนานาชาติได้ต่อไปด้วย ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ด้านการศึกษา 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) เพื่อให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว มีความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน ในส่วนการดำเนินความร่วมมือด้านการศึกษากับต่างประเทศของกระทรวงศึกษาธิการ ในปัจจุบันมีความพร้อมและมีบทบาทที่โดดเด่นเป็นที่ยอมรับมากขึ้นในเวทีระหว่างประเทศ โดยมุ่งเน้นการกระชับความสัมพันธ์อันดีกับนานาประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และการเสริมสร้างศักยภาพของหน่วยงาน/สถาบันการศึกษา รวมทั้งคนไทยที่มีมาตรฐานสากล ซึ่งจะนำไปสู่การส่งเสริมสถานะและบทบาทของประเทศไทยในประชาคมโลก

          ดังนั้นกระทรวงศึกษาธิการจึงร่วมมือกับมหาวิทยาลัยนเรศวรในการจัดอบรมระยะสั้น หัวข้อ “Wellness for Aging Society” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งเน้นเกี่ยวกับด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ การดูแลร่างกาย จิตใจ การเตรียมความพร้อมสำหรับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และเตรียมพร้อมในการปรับตัวให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมและแนวโน้มที่สำคัญของโลก

wellness for Aging Society 1 Aug 2019

          2. ผู้เข้าร่วมโครงการอบรม
          ผู้เข้าร่วมโครงการอบรมในครั้งนี้ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ อาจารย์มหาวิทยาลัยและครูระดับมัธยมศึกษาจากราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประเทศมาเลเซีย สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม รวมทั้งสิ้น 9 คน

          3. การต้อนรับ
          ผู้เข้าร่วมโครงการได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์) โดยรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้การกล่าวต้อนรับคณะผู้รับการฝึกอบรม และกล่าวถึงวัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการ ฯ มีใจความสำคัญว่าประเด็นการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุกำลังเกิดขึ้นในหลายประเทศของอาเซียนและของโลก ซึ่งทุกประเทศต่างก็ตระหนักถึงความสำคัญในการเตรียมความพร้อมและการทำงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรับมือกับ “สังคมสูงวัย” (Aging Society) ที่กำลังแพร่กระจายไปยังภูมิภาคต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว และนับเป็นโอกาสดีของประเทศไทยในช่วงของการเป็นประธานอาเซียนที่จะสร้างความตื่นรู้และจัดเตรียมความพร้อมให้กับผู้ปฏิบัติงานของประเทศสมาชิกอาเซียน ที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์และนำความรู้ไปใช้ในการจัดทำและนำเสนอเป็นนโยบายที่สำคัญต่อไป นอกจากนี้ ยังได้กล่าวขอบคุณสภาการพยาบาล มหาวิทยาลัยนเรศวร และผู้จัดโครงการ ฯ ที่ร่วมกันผลักดันและขับเคลื่อนให้โครงการ ฯ ดังกล่าวนี้สำเร็จลุล่วง

wellness for Aging Society 2 Aug 2019

           4. การบรรยายทางวิชาการ
           4.1 รองศาสตราจารย์ ดร.นารีรัตน์ จิตรมนตรี ผู้ทรงคุณวุฒิ ของสภาการพยาบาล ได้บรรยายเกี่ยวกับผลกระทบของการเพิ่มประชากรผู้สูงอายุ การดำเนินนโยบายเกี่ยวกับการบริหารงานในยุคสังคมผู้สูงอายุ แนวทางการดำเนินงาน แผนรองรับในอนาคต และแนวปฏิบัติที่ดีของประเทศไทยในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องในมิติต่าง ๆ

           4.2 หัวข้อ “การวางแผนการเงินเพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย” โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สัมพันธ์ เนตยานันท์ ได้บรรยายเกี่ยวกับการบริหารจัดการเงิน การลดรายจ่าย การเพิ่มรายรับ การเก็บเงินอย่างไรเพื่อให้มีพอใช้สำหรับในช่วงเกษียณอายุหรือภายหลังจากอายุ 60 ปี โดยวิทยากรแนะนำให้หักเงินจากเงินเดือน เพื่อเป็นเงินเก็บประมาณร้อยละ 10 - 30 ของแต่ละเดือน และหากเป็นไปได้ ควรจัดอีกส่วนหนึ่งสำหรับการลงทุนประมาณร้อยละ 10 - 20 ของเงินเดือน ทั้งนี้ หากสามารถจัดแบ่งเงินเพื่อการลงทุนได้มากเมื่อเกษียณอายุ และไม่มีเงินเดือนรองรับแล้ว เงินลงทุนเหล่านั้นจะยังสามารถหมุนเวียนและเพิ่มจำนวนขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม ยังมีความจำเป็นต้องบริหารจัดการความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย

           4.3 หัวข้อ “การจัดการสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ” โดย ดร.กวิชช์ ธรรมิสร ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ประจำคณะแพทย์ศาสตร์ ดร. ทรงศักดิ์ ทองสนิท อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ และ ดร.วรวุฒิ เกรียงไกร อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้บรรยายเกี่ยวกับประชากรผู้สูงอายุที่มีเพิ่มขึ้น และลักษณะของการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุที่มีความแตกต่างกันระหว่างคนในภูมิภาคตะวันตกและตะวันออก โดยผู้สูงอายุในแถบยุโรปจะอยู่กับคู่ครอง ส่วนผู้สูงอายุในแถบเอเชียจะอาศัยอยู่กับลูกหลานกันเป็นส่วนใหญ่ การจัดการสุขภาพของผู้สูงอายุ สามารถแบ่งได้ 3 ขั้นตอน หรือ 3V ได้แก่ Value คือ การทำให้ผู้สูงวัยสามารถมองเห็นคุณค่าของตนเอง Volunteer คือ ผู้สูงอายุสามารถเป็นอาสาสมัครทำงานบริการต่าง ๆ ตามความถนัด และ Vitality คือ การเกิดพลัง เมื่อผู้สูงวัยรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า ก็จะเป็นการเพิ่มพลังบวกให้กับตนเอง และมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุข

          4.4 หัวข้อ “อาหารที่ปลอดสารพิษ และอาหารธรรมชาติ” ซึ่งมีการบรรยายพิเศษ และนำชมการดำเนินงานของ Rainforest Resort โดย นายณัฐวัฒน์ วัฒนาประสิทธิ์ ได้บรรยายเกี่ยวกับความเป็นมาของรีสอร์ท ว่าแนวความคิดในเบื้องต้นของการสร้างรีสอร์ทนั้น เพียงเพื่อต้องการสร้างสรรค์ประโยชน์ให้แก่สังคม เช่น การกำจัดขยะจากสถานที่ท่องเที่ยวที่อยู่โดยรอบ การนำขยะมารีไซเคิล การสร้างจิตสำนึกให้กับชุมชนเกี่ยวกับอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมทั้งการลดการใช้สารพิษในพืชผักที่ปลูกเพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพที่แข็งแรง และดินปลอดจากสารปนเปื้อน โดยได้ศึกษาและนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มาปรับใช้อย่างเป็นรูปธรรม โดยมีการวางแผนการทำการเกษตร ปลูกพืช ผัก ผลไม้ เลี้ยงสัตว์ ทำปุ๋ยหมัก เพื่อลดการพึ่งพาจากภายนอก และสามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น รวมทั้งส่งเสริมให้ชุมชนรอบข้างดำเนินการในรูปแบบเดียวกัน เพื่อให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง และสร้างเครือข่ายอาหารปลอดสารพิษเพื่อประชาชนได้มีอาหารที่มีประโยชน์ ปลอดสารพิษ และเป็นอาหารธรรมชาติที่รับประทานได้ในราคาไม่สูงมากนัก

          4.5 หัวข้อ “สุขภาพจิต และการปฏิบัติจิตที่ดี” โดย ดร.ณัฐพร โอภาสานนท์ อาจารย์ คณะจิตวิทยา มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้บรรยายเกี่ยวกับเรื่องความคิด จิตใจ ซึ่งจะส่งผลต่อร่างกาย โดยแบ่งกิจกรรมออกเป็น (1) การแสดงความคิดเห็น โดยให้ผู้อบรมนึกถึงคำว่า “ผู้สูงวัย” ทำให้นึกถึงสิ่งใดบ้าง บางครั้งจะคิดถึงแต่ประเด็นในแง่ลบ เช่น ความแก่ มีริ้วรอย ขี้ลืม แต่ในความเป็นจริงยังมีมุมมองในแง่ดี ๆ อยู่มาก เช่น มีเวลาสำหรับการท่องเที่ยวมากขึ้น เป็นผู้มีประสบการณ์สูง มีลูกหลานมากมายที่จะรับการถ่ายทอดสิ่งดี ๆ เป็นต้น (2) การเล่นเกมเพื่อศึกษาพฤติกรรมการแสดงออก บางคนอาจเป็นประเภทไม่ชอบการแสดงออก เวลาเล่นเกมทายคำจากการแสดงออกทางสีหน้า ผู้รับสารไม่ทราบว่าผู้ส่งสารกำลังแสดงความรู้สึกอะไร (3) การกำหนดระยะห่างของความสัมพันธ์ของบุคคลในครอบครัว การมีความใกล้ชิดกับพ่อแม่ พี่น้อง สามี/ภรรยา มากเกินไปอาจไม่ส่งผลดีเสมอไป เนื่องจากเมื่อมีปัญหา หรือต้องการพื้นที่ส่วนตัวก็จะทำให้ไม่มีพื้นที่ส่วนตัว แต่หากมีระยะห่างระหว่างกันมากเกินไป และเมื่อต้องการความช่วยเหลือ ญาติพี่น้องไม่สามารถให้การช่วยเหลือได้ทันเวลา เพราะฉะนั้นจำเป็นต้องมีระยะห่างระหว่างกันอย่างเหมาะสม (4) การสื่อสารระหว่างกัน หากมีเรื่องดี ๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ควรแบ่งปันให้กับผู้อื่นได้รับฟังด้วย เพื่อเกิดความรู้สึกภูมิใจและมีความสุข ขณะเดียวกันหากเป็นประสบการณ์ไม่ดี ก็ควรจะถ่ายทอดให้ผู้อื่นรับทราบด้วย เพื่อเป็นการระบายอารมณ์เศร้าหมอง ขุ่นเคืองใจออกไป สร้างความเห็นอกเห็นใจ และได้รับการปลอบใจไม่มีความทุกข์ และสามารถก้าวเดินต่อไปข้างหน้าได้ (5) การใส่ใจกับสิ่งรอบข้าง การดำรงชีวิตจำเป็นต้องให้ความสนใจกับสิ่งรอบตัว เพราะเราจำเป็นต้องมีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน และเอื้อเฟื้อต่อกัน (6) การวาดภาพ ให้ลองวาดภาพของตัวเองในอนาคตว่าจะเป็นผู้สูงวัยแบบใด ทั้งนี้ การเป็นผู้สูงวัยแบบใดขึ้นอยู่กับความคิดของตัวเองเป็นหลัก เพราะฉะนั้นควรมีความคิดเชิงบวก มีความสุขกับชีวิต เมื่อทำวันนี้ให้ดีที่สุดแล้วในอนาคตทุกอย่างก็จะดีตามไปด้วย

          4.6 หัวข้อ “แพทย์แผนไทยกับการดูแลสุขภาพ” โดยนายสุรศักดิ์ สิงห์ชัย ได้บรรยายเกี่ยวกับกิจกรรมการดูแลและรักษาสุขภาพของโรงพยาบาลแพทย์แผนไทยพรหมพิราม ซึ่งมีทั้งการแช่สมุนไพร การรมยา การทำกายภาพบำบัด การฝังเข็มแผนจีน การอบไอน้ำสมุนไพร โดยรูปแบบการดูแลรักษามี 2 แบบ ได้แก่ (1) การรักษา ฟื้นฟู บำบัด เช่น เป็นอัมพฤต อัมพาต ปวดคอ บ่า ไหล่ ไมเกรน ไหล่ติด เป็นต้น (2) การดูแลรักษาเพื่อการผ่อนคลาย ซึ่งอาจแบ่งการดำเนินการ เป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ (1) ในคลินิก เริ่มตั้งแต่การคัดกรองผู้ป่วย การส่งไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรค และการรักษา และ (2) งานบริการชุมชน ได้แก่ การดูแลผู้สูงอายุในชุมชน การให้ความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรที่อยู่ใกล้ตัว การใช้สมุนไพรรักษาโรค การให้สูตรสมุนไพรเพื่อสามารถนำไปปรุงสมุนไพรที่บ้านได้เอง

          4.7 หัวข้อ “สมุนไพรไทย และการผลิตสมุนไพร” โดย ดร.ณัฐกานต์วดี คุ้มภิรปรางค์ อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้บรรยายเกี่ยวกับลักษณะของสมุนไพรไทย สรรพคุณของสมุนไพรไทย และการจัดทำผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร โดยให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้ทดลองทำเจลว่านหางจระเข้ และยาดมสมุนไพร เป็นต้น

          5. ประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการฝึกอบรม
          5.1 ผู้เข้าร่วมโครงการ ฯ ตระหนักรู้เกี่ยวกับการเพิ่มประชากรของผู้สูงอายุ และแนวทางการดำเนินการเพื่อรับมือกับสังคมผู้สูงอายุ
          5.2 ผู้เข้าร่วมโครงการ ฯ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับการเตรียมการรองรับสังคมผู้สูงอายุของประเทศสมาชิกอาเซียน
          5.3 ผู้เข้าร่วมโครงการ ฯ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการวางแผนการเงินเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต
          5.4 ผู้เข้าร่วมโครงการ ฯ สามารถเรียนรู้ทฤษฏีและฝึกปฏิบัติเกี่ยวกับการออกกำลังที่ถูกต้อง และเหมาะสมต่อสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล
          5.5 ผู้เข้าร่วมโครงการ ฯ ได้ศึกษาเกี่ยวกับสมุนไพรพื้นบ้าน และสรรพคุณทางยาของสมุนไพรเหล่านั้น รวมทั้งวิธีการรักษาอย่างง่ายที่สามารถดำเนินการได้ด้วยตนเอง
          5.6 ผู้จัดโครงการและวิทยากรได้ถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการสร้างความตระหนักของสังคมผู้สูงอายุและการเตรียมการรองรับสังคมผู้สูงอายุแก่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
          5.7 ผู้จัดโครงการและวิทยากร รวมทั้งผู้เข้าร่วมโครงการ ฯ ได้กระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการ ฯ บางรายแจ้งว่า มีแผนนำนักศึกษาหรือเจ้าหน้าที่จากประเทศของตนมาเข้ารับการศึกษา/อบรมหลักสูตรลักษณะนี้ในประเทศไทย

          6. อุปสรรคและความท้าทาย
          6.1 การประสานงานกับประเทศสมาชิกอาเซียนหลายประเทศต้องผ่านการพิจารณาจากหลายหน่วยงาน และบางประเทศมีกระบวนการขออนุญาตเดินทางไปต่างประเทศหลายขั้นตอน ทำให้ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการ การออกบัตรโดยสารระหว่างประเทศ การจัดห้องพัก และการจัดการต้อนรับ
          6.2 กระบวนการเบิกจ่ายงบประมาณสำหรับการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ต่างประเทศ ในสถาบันการศึกษา หรือหน่วยงานในประเทศมีข้อจำกัด จำเป็นต้องมีการประสานงานระหว่างหน่วยงานอย่างใกล้ชิด

          7. ข้อเสนอแนะ
          7.1 ควรแสวงหาความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาในการจัดหลักสูตรต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับความสนใจ หรือกระแสของสังคมโลก เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาค
          7.2 ควรได้รับการจัดสรรงบประมาณ เพื่อการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และขยายผลให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง
          7.3 ควรเปิดโอกาสให้แก่บุคคลจากต่างประเทศที่สนใจทุกช่วงวัย และหลากหลายภูมิภาคสามารถเข้ารับการอบรมหลักสูตรในลักษณะนี้

wellness for Aging Society 3 Aug 2019

**************************************

กลุ่มความร่วมมือระดับภูมิภาค
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

27 สิงหาคม 2562