Loading color scheme

สรุปสาระสำคัญ การประชุมหารือประสบการณ์การดำเนินงานเพื่อการป้องกันและควบคุมโรค (Non-Communicable Diseases) ของประเทศไทย

Non Communicable Diseases 29 8 2561นายธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้การต้อนรับผู้แทนจากสำนักผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทยในฐานะคณะทำงานเฉพาะด้านโรคไม่ติดต่อ หรือ UN Inter Agency Task Force (UNAIF) และเป็นประธานการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินงานเพื่อการป้องกันและควบคุมโรค (Non-Communicable Diseases) ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2561 ณ ห้องประชุมจันทรเกษม กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีรองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (นางสุกัญญา งามบรรจง) ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหาร ข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงศึกษาธิการเข้าร่วม มีสาระสำคัญการประชุมหารือฯ ดังนี้
1. ผู้แทนองค์การอนามัยโลก แจ้งว่า ปัจจุบันทั่วโลกให้ความสำคัญกับโรคไม่ติดต่อ (Non-communicable diseases) โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 4 โรค ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคปอดเรื้อรัง และโรคหลอดเลือด/หัวใจ ทั้งนี้ ปัญหาดังกล่าวส่งผลต่อการดำรงชีวิตและการทำงานของบุคลากร และส่งผลกระทบต่อองค์กรและการพัฒนาประเทศในภาพรวม โดยได้มีการวิจัยถึงถึงสาเหตุของโรคไม่ติดต่อ
และแนวปฏิบัติที่ดีในการจัดการกับปัญหาข้างต้น ดังนี้

1.1สาเหตุของโรคไม่ติดต่อ
• โรคอ้วน พบว่า อาหารเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคอ้วนในเด็ก อย่างไรก็ดีในปัจจุบันโรงเรียนและสถานศึกษาไม่ได้ให้ความสำคัญกับการจัดอาหารที่มีประโยชน์ให้กับเด็กและเยาวชนตามช่วงวัยอันก่อให้เกิดเป็นสาเหตุของโรคอ้วน และโรคหัวใจ
• การสูบบุหรี่ พบว่า เด็กและเยาวชนอายุ 13 - 16 ปี มีสัดส่วนสูบบุหรี่อยู่ที่ 1 คนจากจำนวน 6 คน โดยพบว่าปริมาณของเด็กผู้หญิงมีจำนวนเพิ่มขึ้นในขณะที่จำนวนของเด็กผู้ชายไม่ได้ลดลงกว่าในปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ สาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบเกิดจากสื่อที่เข้าถึงได้ในปัจจุบัน
  1.2แนวปฏิบัติที่ดีในการจัดการกับโรคไม่ติดต่อ
• การสร้างสิ่งแวดล้อมเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ มีความสำคัญเนื่องจากการเรียนรู้ที่เพลิดเพลินจะนำมาซึ่งความเข้าใจ และสามารถจดจำได้ดีกว่าการเรียนรู้อย่างมีแบบแผนในห้องเรียน
• การเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากแหล่งข้อมูลในปัจจุบัน จะเป็นประโยชน์สำหรับเด็กและเยาวชนในการเรียนรู้และการสร้างสุขภาวะที่ดีได้

Non Communicable Diseases1 29 8 25612. การศึกษามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและเจริญเติบโต โดยผู้แทนองค์การอนามัยโลกได้เสนอแนะแนวทางการเสริมสร้างสุขภาวะที่ดีและป้องกันการเกิดโรคไม่ติดต่ออาจทำได้โดย การป้องกันการสื่อสารคุณค่าของผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีประโยชน์ สร้างพื้นที่ที่ส่งเสริมสุขภาพที่ดีให้กับชุมชน โดยอาจเริ่มที่กระทรวงศึกษาธิการก่อนได้ และ การจัดให้เกิดการเรียนรู้รูปแบบใหม่ที่เสริมสร้างคุณภาพชีวิตควบคู่ไปกับการเรียนรู้ที่ยั่งยืน
3. การประชุมหารือครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อรับทราบการดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการในการจัดการศึกษาเพื่อส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคไม่ติดต่อ ตลอดจนหาแนวร่วมแห่งพันธะสัญญา (commitment) จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของไทยเพื่อให้การดำเนินการบรรลุผลให้เกิดสุขภาวะที่ดีทั้งในระดับปัจเจก ชุมชน สังคม และประเทศ
4. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ขอบคุณผู้แทนองค์การอนามัยโลกสำหรับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และกล่าวว่าปัจจุบัน ประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการได้มี
การจัดการเรียนการสอนและกิจกรรมที่สนับสนุนการขับเคลื่อนให้เกิดสุขภาวะที่ดี อาทิ การยกเลิกการสอบประเมินคุณภาพการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐานในวิชาสุขศึกษา การพัฒนาครูให้มีสุขภาวะที่ดี การพัฒนาหลักสูตรเพื่อการพัฒนาสุขภาวะและสุขภาพที่ดี และการงดจัดอาหารว่างระหว่างการประชุม เป็นต้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่าในส่วนของหลักสูตรเพื่อการพัฒนาสุขภาวะและสุขภาพที่ดีนั้น อยู่ระหว่างการจัดทำร่วมกับกรมคุ้มครองโรค กระทรวงสาธารณสุข โดยมุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับสุขภาพใน 3 ด้าน คือ สุขภาพกาย ใจ และทักษะที่จำเป็นเกี่ยวกับการดูแลและพัฒนาสุขภาพ อย่างไรก็ดี จากการดำเนินการที่ผ่านมาพบว่า ครู ขาดความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาสาระโรคไม่ติดต่อและการส่งเสริมสุขภาวะที่ดี ซึ่งไม่ก่อให้เกิดการเรียนรู้และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมศาสตร์ (behavioral) ของผู้เรียน นอกจากนี้ ครูยังขาดทักษะในการวิเคราะห์ข้อมูลทางกายภาพของนักเรียนและ ของการส่งเสริมส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคไม่ติดต่อในสถานศึกษา ซึ่งเรื่องดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาเพื่อให้การดำเนินกิจกรรมบรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
5. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวขอบคุณคณะผู้แทนองค์การอนามัยโลกสำหรับข้อมูลและแนวคิดในการจัดการศึกษาเพื่อสนับสนุนการพัฒนาสังคมแห่งสุขภาวะ และได้ให้คำมั่นที่จะให้ความร่วมมือในกิจกรรมใด ๆ ที่ก่อประโยชน์สูงสุดสำหรับผู้เรียน นอกจากนี้ ได้มอบนโยบายให้มีการติดตามประเมินผลการดำเนินกิจกรรมด้วยการประเมินเชิงประจักษ์ (empirical measurement) เพื่อให้ทราบความก้าวหน้า ปัญหา/อุปสรรค และสามารถถ่ายทอดการดำเนินงานที่ดีได้ต่อไป

***************************************************************************

สรุปโดย
สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สป.
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป.
31 สิงหาคม 2561