Loading color scheme

สรุปสาระสำคัญการประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรี (Ministerial Roundtable) ในระหว่างการประชุม“3rd Asia-Pacific Regional Policy Forum on Early Childhood Care and Education (ECCE)” ระหว่างวันที่ 5 6 มิถุนายน 2561 กรุงกาฐมาณฑุ เนปาล

p20180605 101515

ในระหว่างการประชุม“3rd Asia-Pacific Regional Policy Forum on Early Childhood Care and Education (ECCE)” นางวัฒนาพร ระงับทุกข์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้เข้าร่วมการประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรี พร้อมทั้งกล่าวถึงความก้าวหน้าการดำเนินงานของประเทศไทย ที่ได้เร่งดำเนินการตามแผนปฏิบัติการทั้ง 9 ประการของปฏิญญาฯ โดยมีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติที่กำหนดให้รัฐต้องดำเนินการให้บุคคลมีสิทธิและโอกาสเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี และไม่เก็บค่าใช้จ่าย มีการดำเนินโครงการ 15 ปีเรียนฟรี การกำหนดพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561 ที่เน้นสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และผู้ด้อยโอกาสจนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน การดำเนินโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดที่อยู่นอกระบบประกันสังคม การจัดสรรเงินเป็นค่าอาหารกลางวันสำหรับเด็กปฐมวัย และค่าอาหารเสริมนมสำหรับเด็กปฐมวัยในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งให้เงินอุดหนุนเพื่อค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน คนละ 1,700 บาท/คน/ปี นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินโครงการพัฒนาเครื่องมือในการคัดกรองประเมินและวินิจฉัยความผิดปกติของพัฒนาการสำหรับเด็กปฐมวัย และแผนงานส่งเสริมพัฒนาการเด็กและเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี รวมทั้งขับเคลื่อนการพัฒนาระบบสารสนเทศและฐานข้อมูลเด็กปฐมวัย การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารราชการและเชื่อมโยงกับการทำ Big data การดำเนินความร่วมมือกับองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย โดยใช้โปรแกรม Multiple Indicators Cluster Survey (MICS) เพื่อสำรวจครัวเรือนในระดับนานาชาติ ตลอดจนการได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานเรื่องสมรรถนะของเด็กปฐมวัยจากองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย

     นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ร่วมกันหารือเกี่ยวกับการดำเนินงานด้าน ECCE และพิจารณาแนวทางในการพัฒนาแผนปฏิบัติการของอนุภูมิภาคโดยสอดคล้องตามแถลงการณ์ปุตราจายาใน 9 ข้อหลัก ซึ่งจากสรุปผลการสำรวจการเก็บข้อมูลด้าน ECCE ในภาพรวมชี้ให้เห็นว่า ประเทศต่าง ๆ จัดแบ่งระดับอายุของการศึกษาปฐมวัยซึ่งส่วนใหญ่จะเริ่มที่อายุ 6 ปี กำหนดให้การศึกษาปฐมวัยเป็นการศึกษาภาคบังคับ ที่เด็กทุกคนต้องเข้าเรียนอย่างน้อย 1 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย มีกระทรวงศึกษาธิการเป็นหน่วยงานหลัก จัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ชุมชน หุ้นส่วนความร่วมมือ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการดังกล่าว จัดฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพของครูและบุคลากรที่เกี่ยวข้องด้าน ECCE จัดทำแผนงานเชิงบูรณาการและครอบคลุม จัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ

     อย่างไรก็ตาม ยังพบว่าหลายประเทศยังไม่มีการดำเนินงานและติดตามผลโดยสอดคล้องกับปฏิญญาปุตราจายา และยังมีสิ่งท้าทายในเรื่องของเครือข่ายความร่วมมือที่ยังไม่เข้มแข็ง การขาดแคลนแหล่งเงินและทรัพยากรมนุษย์ การขาดความเสถียรภาพของหน่วยงานที่ดำเนินการประสานและนโยบายที่ไม่มั่นคง การขาดแคลนครูที่ผ่านการอบรมเฉพาะด้านปฐมวัย ช่องว่างด้านคุณภาพของครูในเมืองและชนบท การขาดเครื่องมือวัดประเมินผลและติดตามการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กแบบองค์รวม โดยเฉพาะเครื่องมือที่ได้มาตรฐานสากล การขาดทักษะการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำไปสู่การจัดทำนโยบายและปฏิบัติ ตลอดจนแผนการดำเนินงานด้านการเสริมสร้างความตระหนักและความสำคัญในการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน การลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน การเข้าถึงการพัฒนาเด็กแบบองค์รวม ยังไม่ปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรม รวมทั้งการเสริมสร้างความเข้มแข็งในการดำเนินความร่วมมือทั้งในระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาค     
     ทั้งนี้ ภายหลังการประชุมข้างต้น ประเทศต่าง ๆ ได้ร่วมกันหารือแนวทางในการพัฒนาแผนปฏิบัติการของอนุภูมิภาค และได้รับรองแผนดำเนินงาน “Kathmandu Statement for Action” ซึ่งมุ่งเน้นประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1) ด้านการเงิน  2) ด้านการวางแผนของภาคการศึกษาในเรื่องการดูแลและการศึกษาเด็กปฐมวัย 3) ความเสมอภาคในการเข้าถึงการศึกษาปฐมวัยอย่างทั่วถึง 4) การปรับปรุงคุณภาพ และ 5) การติดตามตัวชี้วัดที่ 4.2

p20180605 140751

 

 


*************************

 

 


กลุ่มความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
26 มิถุนายน 2561