Loading color scheme

การประชุมคณะกรรมการบริหารของซีมีโอ ประจำปี 2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล

SEAMEO Executive 31 8 2564

          นางสาวชฎารัตน์ สิงหเดชากุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับมอบหมายจากปลัดกระทรวงศึกษาธิการให้เป็นผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการบริหารของซีมีโอ ประจำปี 2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ในฐานะกรรมการบริหาร เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2564 โดยองค์ประกอบคณะกรรมการบริหารฯ ระหว่างปี 2564 – 2565 ประกอบด้วย สิงคโปร์ (ประธาน) ฟิลิปปินส์ (รองประธาน) มาเลเซีย กัมพูชา ไทย (กรรมการ) และผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการซีมีโอ (กรรมการโดยตำแหน่ง) ทั้งนี้ผู้อำนวยการและเจ้าหน้าที่สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศเข้าร่วมสังเกตการณ์ประชุมด้วย

          ที่ประชุมได้รับรองข้อมติตามเอกสารรายงานและความก้าวหน้าของโครงการ/กิจกรรม จำนวน 9 เรื่อง และรับรองข้อมติตามเอกสารข้อเสนอของโครงการ/กิจกรรม จำนวน 5 เรื่อง รวมทั้งได้ร่วมกันพิจารณาและหารือประเด็นสำคัญ ดังนี้

          1. ความก้าวหน้าทางการเงินของสำนักงานเลขาธิการซีมีโอ เนื่องจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทำให้สำนักงานเลขาธิการซีมีโอต้องปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินโครงการ/กิจกรรมในช่วงปีงบประมาณ 2563-2564 ในรูปแบบของการจัดประชุม/สัมมนาออนไลน์ เพื่อสนับสนุนข้อมูลแก่นักวิชาการศึกษาและนักเรียน รวมทั้งช่วยเหลือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางการศึกษาทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้น เงินคงเหลือในส่วนของค่าเดินทางและค่าใช้จ่ายอื่นที่ยังไม่ได้นำไปใช้สำหรับการประชุมระดับภูมิภาคและการประชุมที่จัดขึ้นเป็นประจำของประเทศในภูมิภาคนั้น สำนักงานเลขาธิการซีมีโอจะนำไปจัดสรรเพื่อดำเนินโครงการ/กิจกรรมในปีงบประมาณรอบถัดไป ระหว่างปี 2564-2565 พร้อมทั้งจัดทำเอกสารฉบับเต็มเพื่อรายงานผลความก้าวหน้าทางการเงินต่อไป   

SEAMEO Executive1 31 8 2564

          2. รายงานผลสำรวจการประเมินผลการปฏิบัติงานของสำนักงานเลขาธิการซีมีโอ สำนักงานเลขาธิการซีมีโอได้จัดทำการสำรวจผลการปฏิบัติงานขององค์กรในปีงบประมาณ 2562/2563 ผ่านการประเมินออนไลน์ เพื่อรวบรวมข้อคิดเห็นจากประเทศสมาชิกซีมีโอ ประเทศสมาชิกสมทบซีมีโอ หน่วยงานสมทบซีมีโอ ศูนย์ระดับภูมิภาคของซีมีโอ และภาคีเครือข่าย ซึ่งในภาพรวมประเทศส่วนใหญ่พึงพอใจต่อผลการปฏิบัติงานที่ผ่านมาของสำนักงานเลขาธิการซีมีโอ ทั้งนี้ ประธานที่ประชุมฯ เห็นว่าควรแบ่งปันผลสำรวจที่ได้จากการประเมินของประเทศสมาชิกซีมีโอไปยังกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง เพื่อสะท้อนมุมมองที่หลากหลายมากยิ่งขึ้นและจะเป็นประโยชน์ต่อสำนักงานเลขาธิการซีมีโอในการพัฒนาการปฏิบัติงานขององค์กรในอนาคต โดยสำนักงานเลขาธิการซีมีโอจะได้นำผลสำรวจดังกล่าวไปเผยแพร่ในเว็บไซต์ต่อไป

SEAMEO Executive3 31 8 2564

          3. รายงานผลการประชุมประสานงานระหว่างสำนักงานเลขาธิการซีมีโอและสำนักงานเลขาธิการอาเซียน ที่ประชุมเห็นพ้องและให้ความสำคัญต่อการทำงานร่วมกันระหว่างซีมีโอและอาเซียน โดยเฉพาะปัจจุบันอาเซียนมีกิจกรรมที่ริเริ่มขึ้นใหม่จำนวนมาก สำหรับประเทศไทยได้ให้ข้อคิดเห็นว่าการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนข้อมูลจากผลการดำเนินโครงการ/กิจกรรมระหว่างซีมีโอและอาเซียนเป็นเรื่องสำคัญ พร้อมทั้งให้ข้อสังเกตว่ายังคงมีกิจกรรมบางส่วนที่มีความใกล้เคียงกัน ซึ่งหากซีมีโอและอาเซียนสามารถมีความร่วมมือและผสานการทำงานร่วมกันอย่างชัดเจนทั้งในส่วนของนโยบายและแผนงาน จะทำให้ได้มาซึ่งผลผลิตของงานและผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ก่อนที่จะมีการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษาของอาเซียน สำนักงานเลขาธิการซีมีโอจะหารืออีกครั้งกับสำนักเลขาธิการอาเซียน ในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนกันยายน 2564 เพื่อพิจารณาทบทวนแผนงานด้านวาระการศึกษาไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนระหว่างกัน

          4. ข้อเสนอแผนยุทธศาสตร์โครงการวัดผลการเรียนรู้ระดับประถมศึกษาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระหว่างปี 2564-2568 (Proposal on the Southeast Asia Primary Learning Metrics  Strategic Plan 2021-2025) หรือ SEA-PLM โดยองค์การซีมีโอ และองค์การยูนิเซฟ สำนักงานเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (UNICEF EAPRO) ในฐานะผู้ดำเนินโครงการหลัก รวมทั้งสำนักเลขาธิการภูมิภาคของโครงการ SEA-PLM ในฐานะหน่วยงานผู้ประสานของภูมิภาค จะจัดให้มีการประเมิน SEA-PLM ระดับภูมิภาค ทุก 4 หรือ 5 ปี ในลักษณะเดียวกันกับการประเมิน PISA ซึ่งจะได้มีการหารือกับประเทศในภูมิภาค และสำนักเลขาธิการอาเซียนที่มีการดำเนินโครงการดังกล่าวด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ UNICEF EAPRO เป็นหน่วยงานหลักในการผลักดันการดำเนินโครงการฯ พร้อมทั้งสนับสนุนในส่วนของเงินทุน และที่ผ่านมาสำนักงานเลขาธิการซีมีโอได้ประสานหารือกับสำนักเลขาธิการอาเซียน เพื่อขอความร่วมมือด้านเงินทุนในการดำเนินโครงการฯ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอการพิจารณาจากสาธารณรัฐเกาหลี ในฐานะภาคีเครือข่ายความร่วมมือของอาเซียน

SEAMEO Executive2 31 8 2564

ประเทศไทยพร้อมสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ของนักเรียนระดับประถมศึกษา

          อนึ่ง ประเทศไทยได้กล่าวแสดงความชื่นชมสำนักงานเลขาธิการซีมีโอ และ UNICEF EAPRO ที่ได้จัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์โครงการ SEA-PLM ระหว่างปี 2564-2568 รวมทั้งกล่าวแสดงความเชื่อมั่นว่า การประเมินรอบต่อไปจะสามารถยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะเป็นการตอบสนองความต้องการของภูมิภาคด้านการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ของนักเรียนระดับประถมศึกษา อย่างไรก็ตาม ประเด็นความช่วยเหลือทางด้านการเงินของประเทศสมาชิกซีมีโอยังเป็นข้อกังวลอย่างยิ่ง ในกรณีที่บางประเทศมีความประสงค์จะเข้าร่วมการประเมิน SEA-PLM 2023 ระดับภูมิภาค ในฐานะสมาชิกหลัก (Core Membership) แต่มีข้อจำกัดด้านการเงินที่ต้องนำมาใช้ในการดำเนินโครงการฯ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
(โควิด-19) ได้ส่งผลกระทบให้หลายประเทศในภูมิภาค รวมทั้งประเทศไทยต้องเผชิญกับสภาวะการขาดแคลนงบประมาณ ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะเป็นประเด็นที่ท้าทายต่อการดำเนินโครงการฯ อย่างมาก และสำนักงานเลขาธิการซีมีโออาจจะต้องหาแนวทางในการรับมือกับปัญหาดังกล่าว

          ทั้งนี้ สำนักงานเลขาธิการซีมีโอได้เสนอข้อคิดเห็นต่อมุมมองของประเทศไทยว่า จะดำเนินงานร่วมกับ UNICEF EAPRO และสำนักเลขาธิการภูมิภาคของโครงการฯ ในการแสวงหาแนวทางและความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายให้มากขึ้น เพื่อขอรับการสนับสนุนและการระดมเงินทุนสำหรับการประเมิน SEA-PLM ระดับภูมิภาคต่อไป

สรุป/เรียบเรียง : สิริภัคค์ ธรรมบุศย์
วิไลลักษณ์ ผดุงกิตติมาลย์
กลุ่มความร่วมมือระดับภูมิภาค
รายงานโดย กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
ข้อมูล ณ วันที่ : 30 สิงหาคม 2564