Loading color scheme

พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษาไทย-ฟินแลนด์

Finland 11 2 2565
          นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ให้การต้อนรับนายนายยูริ ยาร์วียาโฮ (H.E. Mr. Jyri Järviaho) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฟินแลนด์ประจำประเทศไทยและคณะ ในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะเพื่อหารือความร่วมมือด้านการศึกษา และร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างกระทรวงศึกษาธิการแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงศึกษาธิการและวัฒนธรรมแห่งสาธารณรัฐฟินแลนด์ เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 09.00 น. โดยมีนายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา นายวีระ แข็งกสิการ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ ที่ปรึกษาด้านความร่วมมือกับต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงานดังกล่าว

Finland4 11 2 2565

         รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวถึงระบบการศึกษาของฟินแลนด์ที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก พร้อมทั้งกล่าวว่าปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายด้านการศึกษา โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทั้งในเรื่องของระบบการศึกษา การฝึกอบรมครูและบุคลากรทางการศึกษา การจัดการเรียนการสอนในระหว่างที่มีการประกาศใช้มาตรการจำกัดการเดินทาง (Lockdown) และการสนับสนุนเทคนิคหรือนวัตกรรมทางการสอนให้แก่ครูในช่วงเวลาดังกล่าว นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญกับการพัฒนาครู เนื่องจากครูเป็นบุคคลสำคัญในการพัฒนาการศึกษาของประเทศ จึงประสงค์ที่จะดำเนินความร่วมมือกับฝ่ายฟินแลนด์ในการจัดทำหลักสูตรครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ โดยเชิญกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการดังกล่าวด้วย ดังนั้น จึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ไทยและฟินแลนด์จะได้ขยายความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างกันภายใต้บันทึกความเข้าใจฯ ซึ่งจะมีการลงนามภายหลังการหารือในวันนี้

Finland2 11 2 2565

         เอกอัครราชทูตฯ กล่าวขอบคุณรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่ให้การต้อนรับ และแสดงความยินดีต่อการเข้ารับตำแหน่งใหม่ อีกทั้งกล่าวแสดงความยินดีที่ไทยกับฟินแลนด์จะได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษาในวันนี้ ซึ่งถือว่าเป็นก้าวสำคัญสำหรับทั้งสองประเทศในการดำเนินความร่วมมือด้านการศึกษาที่หลากหลายมากขึ้น โดยที่ผ่านมาไทยและฟินแลนด์ได้ร่วมกันดำเนินโครงการนำร่องในการจัดฝึกอบรมหลักสูตรต่าง ๆ ให้แก่ครูไทยในรูปแบบออนไลน์ เอกอัครราชทูตฯ ยังได้กล่าวขอบคุณกระทรวงศึกษาธิการที่ให้การสนับสนุนการก่อตั้งโรงเรียนตามหลักสูตรของฟินแลนด์ในประเทศไทย 2 แห่ง ได้แก่ Arkki ซึ่งเป็นโรงเรียนหลักสูตรเชิงสร้างสรรค์ โดยใช้การเรียนรู้แบบใช้ปรากฏการณ์เป็นฐาน (Phenomenon-Based Learning) และ Helsinki International Schools Bangkok หรือ HEI Schools Bangkok ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีแนวคิดในการจัดการเรียนการสอนที่โดดเด่น โดยเน้นการเรียนรู้ตลอดชีวิต การลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างไทยกับฟินแลนด์ครั้งนี้จะส่งเสริมโอกาสในการขยายความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างสองประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนาเครื่องมือเพื่อการเรียนรู้สำหรับเด็กก่อนวัยเรียน และการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน

Finland5 11 2 2565

         ภายหลังจากการหารือ ได้มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างกระทรวงศึกษาธิการแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงศึกษาธิการและวัฒนธรรมแห่งสาธารณรัฐฟินแลนด์ (Memorandum of Understanding on Cooperation in the Field of Education between the Ministry of Education of the Kingdom of Thailand and the Ministry of Education and Culture of the Republic of Finland) ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ

Finland1 11 2 2565

         โอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวว่า การลงนามบันทึกความเข้าใจครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญของการยกระดับความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างไทยกับฟินแลนด์ และเป็นโอกาสดีที่หน่วยงานด้านการศึกษาของไทยจะได้เรียนรู้ประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีจากฟินแลนด์ เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาสำหรับผู้เรียนในทุกระดับ ตลอดจนการพัฒนาครู ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการจึงยินดีสนับสนุนความร่วมมือด้านการศึกษากับฝ่ายฟินแลนด์อย่างเต็มที่เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนทั้งสองประเทศ

Finland6 11 2 2565

         เอกอัครราชทูตฯ กล่าวในนามของกระทรวงศึกษาธิการและวัฒนธรรมฟินแลนด์ว่า การศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจของประเทศไปสู่ “สังคมสารสนเทศฐานความรู้” (Knowledge-based Information Society) ซึ่งฟินแลนด์ได้วางเป้าหมายระยะยาวด้านการศึกษา คือ การจัดการศึกษาที่เท่าเทียมสำหรับทุกคน โดยมีครูที่ผ่านการฝึกอบรมมาอย่างดีเป็นกำลังสำคัญในระบบการศึกษา ในขณะที่สังคมโลกมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา คนรุ่นใหม่จำเป็นต้องมีทักษะและความรู้ที่ทันสมัยอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งบริษัทและองค์กรต่าง ๆ พร้อมสนับสนุนการพัฒนาทักษะเดิม (Upskills) และการเพิ่มพูนทักษะ (Reskills) โดยการลงนามบันทึกความเข้าใจในวันนี้จะนำไปสู่ความร่วมมือด้านการศึกษาทุกระดับและครอบคลุมทุกรูปแบบการจัดการศึกษา เพื่อพัฒนาระบบการศึกษาสำหรับอนาคต

Finland7 11 2 2565

         อนึ่ง บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างกระทรวงศึกษาธิการแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงศึกษาธิการและวัฒนธรรมแห่งสาธารณรัฐฟินแลนด์จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือครอบคลุมการศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย การเรียนรู้ตลอดชีวิต และการฝึกอบรมสำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษา ผ่านการส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน

Finland3 11 2 2565

สรุปและเรียบเรียง : หงส์ฟ้า วีระนพรัตน์
กุณฑิกา พัชรชานนท์
จิตรลดา จันทร์แหยม
กลุ่มความร่วมมือทวิภาคี
เครดิตภาพ : สำนักงานรัฐมนตรี และ
กลุ่มสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
ข้อมูล ณ วันที่ : 9 กุมภาพันธ์ 2565