Loading color scheme

กระทรวงศึกษาธิการชูนโยบายส่งเสริมการศึกษาผู้ใหญ่และการเรียนรู้ตลอดชีวิตในเวทียูเนสโก

unesco 18 6 2565

          เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2565 ระหว่างเวลา 19.15 – 20.45 น. นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เข้าร่วมการประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรี (Ministerial Panel) ซึ่งจัดขึ้นในช่วงการประชุมด้านการศึกษาผู้ใหญ่ ครั้งที่ 7 (Seventh International Conference on Adult Education) หรือ CONFINTEA VII) รูปแบบผสมผสาน (Hybrid) ณ เมืองมาราเกซ ราชอาณาจักรโมร็อกโก โดยประเทศไทยได้รับเชิญจากยูเนสโกและประเทศเจ้าภาพในการเข้าร่วมอภิปรายระดับรัฐมนตรีเพื่อเปิดตัวรายงานการศึกษาผู้ใหญ่ ฉบับที่ 5 (The Fifth Global Report on Adult Learning and Education) หรือ GRALE 5 เพื่อแลกเปลี่ยนการดำเนินงานและวิสัยทัศน์เชิงยุทธศาสตร์และนโยบายด้านการศึกษาผู้ใหญ่ รวมถึงการสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่ผู้เรียนทุกช่วงวัย

unesco1 18 6 2565

          นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ ได้ร่วมอภิปรายในการประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรี ผ่านโปรแกรมการประชุมทางไกล เกี่ยวกับการประเมินความก้าวหน้าของการดำเนินการด้านการศึกษาผู้ใหญ่ตามกรอบปฏิบัติการเบเล็มตั้งแต่ปี ค.ศ. 2009 โดยกล่าวชื่นชมราชอาณาจักรโมร็อกโกในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมด้านการศึกษาผู้ใหญ่ ครั้งที่ 7 (CONFINTEA 7) ซึ่งเป็นการประชุมที่สำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากการศึกษาผู้ใหญ่ มีบทบาทมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน และแสดงความยินดีกับสถาบันด้านการศึกษาตลอดชีวิต (UNESCO Institute for Lifelong Learning – UIL) ในการเปิดตัวรายงาน GRALE ฉบับที่ 5 และความมุ่งมั่นที่จะเผยแพร่รายงานฉบับใหม่นี้ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แสดงให้เห็นว่า การศึกษาผู้ใหญ่เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญสำหรับการเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษา โดยสนับสนุนให้ประชาชนมีความเข้าใจการเปลี่ยนแปลง สามารถเผชิญและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นได้ ดังนั้น ประเทศไทยจึงเน้นย้ำเรื่องการส่งเสริมคุณภาพของการศึกษาผู้ใหญ่ อันเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว การเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นหนึ่งในนโยบายปฏิบัติการเร่งด่วนของกระทรวงศึกษาธิการที่เรียกว่า quick win กล่าวคือ การจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่มีคุณภาพให้กับทุกคน โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาสและเปราะบาง รวมถึงผู้ที่มีความต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ

unesco2 18 6 2565

          ในส่วนของนโยบายการมีส่วนร่วมด้านการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้พิการมาก โดยเฉพาะช่วงหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อีกทั้งการใช้เทคโนโลยีด้าน ICT เพื่อสนับสนุนการติดตามผู้พิการทั่วประเทศ ทั้งนี้ ได้มีการพัฒนาโปรแกรมชื่อว่า CAPER เพื่อค้นหาผู้พิการและจัดหารูปแบบการศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการและบริบทในท้องถิ่น ซึ่งรวมถึงโปรแกรมการศึกษาสำหรับบุคคล แผนการดำเนินงานสำหรับบุคคล การเรียนรู้ตลอดชีวิต และการเรียนรู้เพื่อการอาชีพ นอกจากนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการศึกษาในช่วงการเปลี่ยนแปลง ซึ่งไทยมีความพยายามที่จะ พัฒนาด้านการศึกษาผู้ใหญ่เพื่อสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกในศตวรรษที่ 21 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการในฐานะที่ดูแลเรื่องการศึกษานอกโรงเรียนและการศึกษาผู้ใหญ่ และกำลังดำเนินการเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. .............. ซึ่งรวมถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยเน้นให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น เสริมสร้างทักษะ และเพิ่มทักษะให้เหมาะสมกับ
ความต้องการ เพื่อเพิ่มโอกาสในการจ้างงานให้กับทุกคน รวมถึงผู้เปราะบางและด้อยโอกาส

unesco3 18 6 2565

          อนึ่ง การประชุมด้านการศึกษาผู้ใหญ่ CONFINTEA มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีในการหารือ อภิปราย แลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดี และส่งเสริมการดำเนินการด้านการศึกษาผู้ใหญ่ จัดขึ้นทุก 12 ปี โดยการประชุมครั้งที่ 7 หรือ CONFINTEA VII จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 – 17 มิถุนายน 2565 รูปแบบผสมผสาน ณ เมืองมาราเกซ ราชอาณาจักรโมร็อกโก เน้นการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning: LLL) และการศึกษาผู้ใหญ่ (Adult Literacy Learning: ALE) เพื่อให้มีความรู้ความสามารถในการเผชิญหน้ากับโลกยุคใหม่ทั้งด้านเทคโนโลยี สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมรูปแบบใหม่ ทั้งนี้ ที่ประชุมจะพิจารณารับรองแผนปฏิบัติการมาราเกซ (Marrakesh Framework of Action) เพื่อเป็นกรอบแนวทางการจัดการศึกษาและการศึกษาผู้ใหญ่ฉบับใหม่ทดแทนฉบับเดิมที่ให้การรับรองในการประชุม CONFINTEA VI เมื่อปี 2009 ที่เมืองเบเล็ม สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล

unesco4 18 6 2565

ข้อมูลประกอบอื่น
          รายงานด้านการศึกษาผู้ใหญ่ หรือ Global Report on Adult Learning and Education (GRALE) เริ่มจัดทำขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 2009 (พ.ศ. 2552) เพื่อรายงานภาพรวมเกี่ยวกับสถานะเรื่องการศึกษาผู้ใหญ่ทั่วโลก หรือ Adult Learning and Education (ALE) โดยเมื่อปี 2009 ยูเนสโกได้จัดทำรายงาน 4 ฉบับ และฉบับที่ 5 (GRALE 5) ได้มีการเปิดตัวในระหว่างการประชุม CONFINTEA VII ในวันที่ 15 มิถุนายน 2565 ในช่วง Ministerial Panel รายงาน GRALE ฉบับที่ 5 ประกอบด้วย ข้อมูลสำรวจ การวิเคราะห์เชิงนโยบาย และกรณีศึกษาเพื่อให้นักนโยบาย นักวิจัย และผู้ปฏิบัติงานได้รับทราบข้อมูลที่เป็นปัจจุบันเกี่ยวกับภาพรวมด้านการศึกษาผู้ใหญ่ของประเทศสมาชิกยูเนสโก รวมถึงการทบทวนเรื่องพลเมืองศึกษา (Citizenship Education) และพลเมืองโลกศึกษา (Global Citizenship Education)

รัชนินท์ พงศ์อุดม
ภัสศรี ศิริประภา
กลุ่มความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ
รายงานโดย : กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
18 มิถุนายน 2565